ดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ค. ติดลบ 5.82%

สศอ.เผยดัชนีเอ็มพีไอเดือน ก.ค. ติดลบ 5.82% จากวิกฤตยุโรปและการฟื้นตัวจากน้ำท่วมช้า

 


สศอ.เผยดัชนีเอ็มพีไอเดือน ก.ค. ติดลบ 5.82% จากวิกฤตยุโรปและการฟื้นตัวจากน้ำท่วมช้า

นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ประจำเดือนกรกฎาคม 2555 พบว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 178.0 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.82% ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 189.08 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 66.77% เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ยืดเยื้อ รวมถึงเศรษฐกิจจีนและสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัวกลับมาผลิตได้เต็มที่ จากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยมีการผลิตอยู่ประมาณ 75% และโรงงานที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้วกลับมาผลิตได้ 50% ของการผลิตเดิม ขณะที่กิจการบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนเจ้าของ ควบรวมกิจการ ทำให้การฟื้นฟูการผลิตยังคงช้าอยู่ ส่วนกลุ่มสิ่งทอและเส้นใย มีการผลิตลดลง 13.85% และการจำหน่ายลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สศอ.ยังเชื่อมั่นกับสถานการณ์ภาคการผลิตของไทยอยู่ โดยได้ปรับประมาณการจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2555 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัว 5.5-6.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5-5.5% เนื่องจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 เติบโตขึ้น 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.4% โดยการปรับประมาณการณ์ใหม่นี้ได้พิจารณารวมถึงผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการส่งออกที่ลดลงจะกระทบต่อจีดีพีอุตสาหกรรมประมาณ 0.4%

ขณะเดียวกัน การลงทุนในประเทศยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี มีการลงทุนใหม่รวมถึงการลงทุนเพื่อซ่อมแซมกิจการจากน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันในประเทศที่ดี ที่สามารถชดเชยการส่งออกที่ลดลงได้ ขณะที่การบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดี เพราะมีมาตรการรัฐบาลเข้ามากระตุ้นการบริโภค เช่น ภาษีรถยนต์คันแรก ที่เพิ่มยอดขายได้มาก และสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าคงทน เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี จึงเป็นแรงส่งชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวลงได้

“ถ้าตัดผลกระทบจากยุโรปออกภาคการผลิตจะเติบโตได้มากกว่านี้ ซึ่งการปรับประมาณการณ์เพิ่มขึ้นสวนทางการส่งออก เพราะมีอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เป็นน้ำหนักใหญ่ในการคำนวณขยายตัวอย่างมาก การผลิตฟื้นตัวเร็ว และมีรถรุ่นใหม่ออกมาเยอะ แรงขับในประเทศยังดีอยู่ ส่วนวิกฤตยุโรป หรือเรื่องการปรับภาษีนั้น จะเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2556”นายหทัย กล่าว

สำหรับแนวโน้มดัชนีเอ็มพีไอในเดือนหน้า จะยังคงติดลบอยู่ที่ระดับ 4-6% ซึ่งยังต้องจับตามองการฟื้นตัวจากน้ำท่วม รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรป เพราะสินค้าหลายตัวยังคงมีการผลิตติดลบอยู่มาก เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น หากไม่มีวิกฤตยุโรปการผลิตจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนส.ค.และก.ย. 

NEWS & TRENDS