นักธุรกิจจีนแห่ตั้งฐานไทยแบ่งเค้ก AEC

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยตัวเลข 7 ปี จีนแห่ลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง คาดเปิดเออีซีแม่เหล็กชิ้นใหญ่ดูดนักลงทุนจีนเพิ่มไม่หยุด แนะรัฐควรวางแผนรับมือ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่มาจากการลงทุน

 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยตัวเลข 7 ปี จีนแห่ลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง คาดเปิดเออีซีแม่เหล็กชิ้นใหญ่ดูดนักลงทุนจีนเพิ่มไม่หยุด แนะรัฐควรวางแผนรับมือ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่มาจากการลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การลงทุนของจีนในไทยรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (2548-2554) จีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 41.9 ต่อปี และเมื่อประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ก็ยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้จีนเข้ามาลงทุนในไทย ด้วยจุดเด่นของไทยที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน สาธารณูปโภคที่มีความพร้อมกว่ากลุ่ม CLMV ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าค่าจ้างรวมสวัสดิการตามกฎหมายในมณฑลชายทะเลของจีน 

รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้แม้ในปี 2555 มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยของนักลงทุนเอกชนจีนอาจต่ำกว่าในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 28.5 พันล้านบาท เนื่องจากขนาดของโครงการเฉลี่ยเล็กลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมองแนวโน้มในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนฯ น่าจะยังเติบโตได้ที่ใกล้เคียงร้อยละ 40 ต่อปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรและเกษตรแปรรูป เช่น เอทานอล  ไบโอพลาสติก ยางแปรรูป และกลุ่มเครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมไปถึง ศูนย์กระจายสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ และนอกจากนั้น ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยรัฐบาลจีนในโครงสร้างพื้นฐานโดย โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง โดยไทยน่าจะครองสัดส่วนการลงทุนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5-10 ของการลงทุนของจีนในอาเซียน โดยยังเป็นรองจากสิงคโปร์ และเมียนมาร์ 

อย่างไรก็ดี จากการที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ต่างก็มีการแข่งขันพัฒนาศักยภาพรองรับการลงทุน จากจีน ทำให้ภาครัฐไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านประสิทธิภาพของแรงงาน ด้านเทคโนโลยี และระบบสาธารณูปโภคที่ควรปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงความต่อเนื่องและความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการลงทุน และนอกจากนั้น ก็ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานของเทคโนโลยี มาตรฐานสินค้า และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการลงทุนของจีนในไทยด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนที่ขาดการควบคุมดูแลที่ดี
 

NEWS & TRENDS