ทีดีอาร์ไอ จี้รัฐเร่งดูแลแรงงานกลับเข้าระบบเร็วที่สุด หวั่นไตรมาส 3 ตกงานเพิ่มเฉียด 4 แสนคน
ทีดีอาร์ไอ จี้รัฐเร่งดูแลแรงงานกลับเข้าระบบเร็วที่สุด หวั่นไตรมาส 3 ตกงานเพิ่มเฉียด 4 แสนคน
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุว่า ในไตรมาส 2 มีจำนวนแรงงานทั้งหมด 39.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% ในจำนวนนี้มีผู้มีงานทำทั้งหมด 38.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.6% มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 334,121 คน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.85% ซึ่งสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.6% ว่ามีสาเหตุมาจากเหตุการณ์น้ำท่วม รวมถึงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทำให้สถานประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปิดตัวลง ขณะเดียวกัน สถานประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างค่าจ้าง จึงคัดเลือกแต่แรงงานที่มีฝีมือ ทำให้แรงงานไร้ฝีมือต้องถูกปลดออก
ดังนั้นกระทรวงแรงงานจะต้องเร่งเข้ามาดูแลแรงงานที่ออกนอกระบบให้กลับเข้าระบบโดยเร็วที่สุด เช่น การจัดหางานที่เหมาะสม และเร่งพัฒนาฝีมือของแรงงานกลุ่มนี้ให้กลับเข้าสู่ระบบหรือออกมาประกอบอาชีพอิสระได้ รวมถึงผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 521,199 คน ให้สามารถแข่งขันได้ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 สูงถึง 1% หรือประมาณ 390,000 คน
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (สอท.) กล่าวว่า การส่งออกครึ่งปีหลัง มองว่า ค่อนข้างเหนื่อยหน่อย เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการบางส่วนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมบ้างแล้ว ซึ่งหากตัวเลขการส่งออกไตรมาส 3 ออกมา จะทำให้เห็นภาพการส่งออกทั้งปีชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวรับมือและหาตลาดเพิ่ม ขณะที่รัฐบาลต้องมีมาตรการเพื่อรองรับการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในปี 2556 ซึ่งภาคเอกชนได้มีการหารือร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และเตรียมเสนอมาตรการ 30 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลเตรียมพร้อมรับภาวการณ์ส่งออกที่เติบโตลดลง เช่น การช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาตลาดในต่างประเทศ และการยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ของผู้รับจ้างผลิต และให้นำไปคำนวณภาษีนิติบุคคล ณ สิ้นปี เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเอสเอ็มอี เป็นต้น