สศช.ชี้แรงงานไทยจบสาขาตลาดไม่ต้องการ

สศช.เผยตัวแรงเลขสาขายอดฮิต นิเทศ บริหาร คอมพิวเตอร์์ เดินเตะฝุ่นระนาว เหตุไม่ตรงความต้องการ เผยต้องเร่งทบทวนปรับโครงสร้างการผลิต

 

สศช.เผยตัวแรงเลขสาขายอดฮิต นิเทศ บริหาร คอมพิวเตอร์์ เดินเตะฝุ่นระนาว เหตุไม่ตรงความต้องการ เผยต้องเร่งทบทวนปรับโครงสร้างการผลิต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมในไตรมาสที่ 2 ของปี 55 ว่า สถานการณ์แรงงานไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องโครงสร้างแรงงานมาก เพราะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เป็นปัญหายืดเยื้อและจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของแรงงานหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ล่าสุดพบว่าในไตรมาสสอง ของปี 55 มีผู้จบการศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจ บริหารและพาณิชยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วารสารศาสตร์และสารสนเทศ รวมถึงสาขาคอมพิวเตอร์ มีอัตราว่างงานสูงมาก หรือคิดเป็น 1ใน 3 ของอัตราการว่างงานทั้งหมด จึงต้องเร่งทบทวนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตกำลังคน และลักษณะรายวิชาที่ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย

ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 มีผู้ว่างงาน 334,121 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 0.85% สูงกว่าปีก่อนที่มีอัตราว่างงาน 0.6% โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบการศึกษาในสาขาธุรกิจ บริหารและพาณิชยศาสตร์ ที่อ่อนไหวตามเศรษฐกิจมากและว่างงานเพิ่มขึ้นมากโดยผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงาน 2.1% ระดับปวส.1.8% และปวช.1% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการลดต้นทุนหันมาเลือกจ้างแรงงานระดับปวช.แทน ขณะที่ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาศิลปกรรมศาสตร์ ว่างงาน 4.4% และมนุษย์ศาสตร์ 2.4% ซึ่งทั้ง 2 สาขาเป็นปัญหาการผลิตคนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และตั้งแต่ปี 48-54 พบว่าสาขาศิลปกรรมศาสตร์ ว่างงาน 3.6% มนุษยศาสตร์ 3.5% สังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ 3% และวารสารศาสตร์และสารสนเทศ มีการว่างงานสูงสุดที่ 5.3%

นอกจากนี้ผู้ที่จบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยระดับปวส.ว่างงาน 4.1% ขณะที่อุดมศึกษาว่างงาน 3.6% และจากข้อมูลยังพบว่าตั้งแต่ปี 48-54 ผู้จบการศึกษาในสาขานี้มีอัตราว่างงานในทุกระดับการศึกษาที่สูงมาก โดยปวช.ว่างงาน 6% ปวส. 4.3% ขณะที่ระดับอุดมศึกษาว่างงาน 4.8%

ส่วนการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น 1.6% สูงกว่าไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น 1% แต่เมื่อเทียบกับอัตราว่างงานที่ต่ำกว่า 1% แล้วแสดงให้เห็นว่าแรงงานไทยอยู่ในภาวะที่ตึงตัวอย่างมาก แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือคิดเป็นค่าจ้างโดยเฉลี่ยที่ปรับขึ้น 19.2% แต่พบว่าคุณภาพแรงงานหรือผลิตภาพแรงงานปรับขึ้นเพียง 2.54% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 % ขณะเดียวกันผลของการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ไม่ได้ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นจนมีนัยสำคัญ แต่มีการโยกย้ายแรงงานไปสู่อาชีพอิสระหรือทำงานในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุน้อย มีทักษะต่ำและมีประสบการณ์น้อย ขณะที่แรงงานสูงอายุมีแนวโน้มเข้าร่วมในกำลังแรงงานมากขึ้น

ด้านนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสศช. กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างแรงงานโดยเร็ว โดยพิจารณาในเรื่องของแรงงานที่มีอายุน้อยแต่มีการศึกษาต่ำ ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มคุณภาพผลิตภาพแรงงานที่จะเข้ามาทดแทนกำลังแรงงานที่ชะลอลงหลังจากที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 67-68 รวมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่มีอายุมากการศึกษาต่ำและทำงานนอกระบบจึงเป็นข้อจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตของประเทศและการยกระดับคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้แรงงานไทยยังอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบทั้งในด้านภาษาอังกฤษและความหลากหลายของภาษาที่ใช้ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 58 ซึ่งจากการจัดอันดับของสถาบันไอเอ็มดีพบว่าไทยถูกจัดในอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับต่ำมาก และต่ำกว่าเวียดนาม จึงเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขเพิ่มความรู้ให้เป็น 2 เท่า และต้องสนับสนุนให้มีความรู้เรื่องภาษามาลายูกลาง ที่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่เออีซีแล้วภาษามาลายูกลางจะเป็นอีก 1 ภาษาที่นำมาใช้เป็นภาษาสากลด้วย
 

NEWS & TRENDS