กููรูเผยทิศทางรัฐเน้นแต่โครงสร้าง ลืมบริหารจัดการ ชี้เป็นไปได้สูงรัฐไม่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างทางกายภาพอย่างเดียว พร้อมแนะเอสเอ็มอีด้านขนส่งควรรวมตัวกัน ไปตั้งฐานประเทศเพื่อนบ้าน
กููรูเผยทิศทางรัฐเน้นแต่โครงสร้าง ลืมบริหารจัดการ ชี้เป็นไปได้สูงรัฐไม่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างทางกายภาพอย่างเดียว พร้อมแนะเอสเอ็มอีด้านขนส่งควรรวมตัวกัน ไปตั้งฐานประเทศเพื่อนบ้าน
รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงานสัมมนาโครงการลดต้นทุนลอจิสติกส์สำหรับผู้ส่งออกและผู้ให้บริการลอจิสติกส์ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 4 จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ว่า สำหรับระบบลอจิสติกส์ของไทยในส่วนของการขนส่ง รัฐบาลไทยยังคงมุ่งให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างทางกายภาพ โดยการลงทุนสร้างถนนหนทางมากมาย เพราะมองเห็นถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่ทุกประเทศในอาเซียนจะต้องใช้พื้นที่ของประเทศไทยในการผ่านไปค้าขายกับทุกประเทศในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม จากข้อได้เปรียบดังกล่าวใช่ว่าเราจะสามารถตักตวงผลประโยชน์ตรงนี้ได้อย่างเต็มที่อย่างที่หลายฝ่ายตั้งใจ เพราะหัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ระบบกายภาพ แต่อยู่ที่มุมมองในการบริหารจัดการ เพราะตราบใดที่เรายังไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ประโยชน์ทุกอย่างก็จะไปอยู่ที่ผู้สั่งการ ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ อย่าง ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่สามารถสร้างรายได้จากการเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการระบบลอจิสติกส์โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างทางกายภาพ
ดังนั้น ถ้าเราไม่ปรับตัว และมองแต่ความได้เปรียบด้านโครงสร้างทางกายภาพเพียงอย่างเดียว มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการทุ่มทุนจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างกายภาพ ซึ่งเหลือเวลาไม่กี่ปีที่ทั้งภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนต้องผนึกกำลังทำงานร่วมกัน เปิดมุมมองใหม่ หันไปให้ความสำคัญต่อการที่เราจะทำอย่างไรจึงจะได้ศูนย์กลางทางด้านการบริหารการจัดการ ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์กลางทางด้านกายภาพที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง
ด้านนายวรทัศน์ ตันติมงคลสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัทโลจิสติกส์ วัน จำกัด กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับตัวของระบบลอจิสติกส์ไทย ต้องยอมรับว่าปัจจุบันลอจิสติกส์ที่เป็นบริษัทคนไทย และเป็นเอสเอ็มอีนั้นมีอยู่ไม่กี่รายที่มีศักยภาพมากเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดของเอสเอ็มอีคือ การรวมกลุ่มกันทำงาน และลงพื้นที่ไปศึกษาโอกาสในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก่อน เพราะถ้าได้ลงไปในพื้นที่ก็จะมองเห็นโอกาสเองว่าจะเริ่มต้นได้อย่างไร
ทั้งนี้ ประกอบกับปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีการย้ายฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในหลายอุตสาหกรรม หลังจากมีแรงผลักดันจากภาครัฐในการขึ้นค่าแรง 300 บาท ดังนั้น ถ้าพูดถึงระบบขนส่งแน่นอนว่าต้องได้รับผลกระทบ เพราะเราเองก็จะไม่รู้จะไปขนอะไร และประเทศที่มีการไปลงทุนกันมากก็เป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่าง กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งสิ่งที่เราทำได้คือ ตามบริษัทเหล่านี้เข้าไปให้บริการได้หลังจากเปิด AEC ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากในช่วงนี้หาโอกาสเข้าไปหาลู่ทางการลงทุน หรือหาพันธมิตรในประเทศนั้น