3 กูรูเศรษฐกิจแนะปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น เตรียมรับแข่งขันรุนแรง แนะไทยใช้ทุนสำรองลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
3 กูรูเศรษฐกิจแนะปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น เตรียมรับแข่งขันรุนแรง แนะไทยใช้ทุนสำรองลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "จุดเปลี่ยนการค้าโลก : ไทยจะเดินอย่างไร" ในงานวันพาณิชย์ ครบรอบ 92 ปี ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่าหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เอกชนดำเนินธุรกิจในต่างประเทศทั้งกระทรวงพาณิชย์ และธปท. เพราะเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็กต้องพึ่งพาการค้าโลก
สำหรับเศรษฐกิจโลกคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐจะไม่ฟื้นได้ง่ายๆ รัฐบาลจึงต้องเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทำให้เอกชนสามารถวางแผนได้สอดคล้องกัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ต้องปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาของแพงที่ถูกต้องคือการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
ด้านนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังถัดค์) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตไม่ถึง 2.5% เพราะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังไม่คลี่คลาย ทำให้การค้าโลกขยายตัวไม่ถึง 5% ท่ามกลางการกีดกันทางการค้าที่กระจายไปทั่วโลกและสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี โดยไทยต้องเตรียมรับมือการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น และศึกษาหาทางเจรจาการค้าสินค้าเกษตรเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออก รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เหนียวแน่น
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะแย่ยิ่งกว่าปีนี้ โดยไทยต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก มาใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบ โลจิสติกส์ ขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างการผลิต โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวให้เหลือเพียง 25 ล้านไร่ ในเขตชลประทาน และพัฒนาการผลิตให้สมบูรณ์แบบ เพื่อเพิ่มผลผลิตไม่ต่ำกว่า 67 ล้านไร่ในปัจจุบัน และหันไปแข่งเรื่องคุณภาพแทนด้านราคา ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงย่อมจะมีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ รัฐจึงควรเข้าไปช่วยผู้ที่เสียประโยชน์ให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
ส่วนอุตสาหกรรมที่จะเป็นดาวเด่นของไทย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลต้องส่งเสริมให้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2-3 ของเอเชีย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 เพราะค่ายรถขนาดใหญ่มาลงทุนในไทยจำนวนมาก