อุตฯอาหารกว่าครึ่งไม่พร้อมค้าเสรี SME หนักสุด

ผลสำรวจชี้อุตสาหกรรมอาหารกว่าครึ่งไม่พร้อมรับเอเอซี ส่วนเอสเอ็มอีหนักสุด เพราะขาดความรู้เชิงลึกและเข้าใจกฎหมายมาตรการภาษี



ผลสำรวจชี้อุตสาหกรรมอาหารกว่าครึ่งไม่พร้อมรับเอเอซี ส่วนเอสเอ็มอีหนักสุด เพราะขาดความรู้เชิงลึกและเข้าใจกฎหมายมาตรการภาษี

  นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สถาบันอาหารได้ทำการสำรวจความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 78 ราย ประกอบด้วย ธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 15 ราย (ร้อยละ 19) ธุรกิจขนาดกลางจำนวน 17 ราย (ร้อยละ 22) และธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 46 ราย (ร้อยละ 59) จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 ยังไม่พร้อมในการรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่วนผู้ประกอบการที่พร้อมรับมือ AEC มีเพียงร้อยละ 44.8
       
หากจำแนกธุรกิจตามขนาดกิจการ พบว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมีความพร้อมในการรับมือ AEC ในสัดส่วนใกล้เคียงกันอยู่ที่ร้อยละ 51.2 และ 50.0 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดย่อมที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.3 ยังไม่พร้อมรับมือ AEC หากจำแนกธุรกิจ พบว่ากลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออก และกลุ่มที่จำหน่ายในประเทศ พบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจที่จำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 63.9 ไม่พร้อมรับมือ AEC ตรงข้ามกับกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 54.8 ตอบว่าพร้อมรับมือ AEC
        
สำหรับผลการสำรวจด้านการใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีเพียงร้อยละ 28.4 โดยผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จาก AEC ในการขอการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อให้ได้สิทธิยกเว้นภาษี หรือลดอัตราภาษี สำหรับสินค้าส่งออกมีสัดส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 47.4 ส่วนการขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสินค้า และการใช้สิทธิประโยชน์ทั้งสองทางมีสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 26.3
       
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วนไม่ได้ทำการค้าอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น การขอรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ AEC จึงยังมีน้อย ประกอบกับอัตราภาษีที่ลดต่ำลงมากจนเป็น 0% เกือบหมดแล้วในปัจจุบัน จึงทำให้การใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC มีสัดส่วนไม่มาก ขณะที่ผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 60.0 มองว่า AEC ส่งผลด้านบวกต่อธุรกิจของตนมากกว่าด้านลบ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นความพร้อมในการรับมือ AEC กลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 37.0 ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในการรับมือ AEC

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในตลาด AEC ว่า สำหรับกลุ่มปัญหาด้านการตลาดกลุ่มเอสเอ็มอี เนื่องจากขาดข้อมูลเชิงลึก และขาดความเข้าใจเรื่องกฎหมายด้านการภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนหรือดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในสถานการณ์การแข่งขันในตลาดประเทศนั้นๆ ด้วยว่าเรากำลังทำธุรกิจแข่งอยู่กับใครบ้าง เป็นนักลงทุนจากประเทศใด มีศักยภาพอยู่ในระดับใด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหรือปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์

NEWS & TRENDS