ปี 55 แฟรนไชส์รายใหม่ผุดครึ่งร้อน คาดดันธุรกิจโต 12% ด้านกูรูแฟรนไชส์ชี้ AEC ดันแฟรนไชส์ภาษาบูม โดยเฉพาะกลุ่มอาเชียน อีกทั้งแฟรนไชส์ปรับตัวรับ AEC กันคึกคัก
ปี 55 แฟรนไชส์รายใหม่ผุดครึ่งร้อน คาดดันธุรกิจโต 12% ด้านกูรูแฟรนไชส์ชี้ AEC ดันแฟรนไชส์ภาษาบูม โดยเฉพาะกลุ่มอาเชียน อีกทั้งแฟรนไชส์ปรับตัวรับ AEC กันคึกคัก
นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัยศรีปทุม และในฐานะประธานที่ปรึกษา บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2555 คาดว่าเติบโตประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เป็นผลจากที่มีธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ๆ เกิดขึ้นประมาณ 40-50 บริษัท ส่งผลให้ในภาพรวมมีธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งสิ้น 560 บริษัทด้วยกัน ถือเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธุรกิจทั้งระบบมีการขยายตัวนั่นเอง
“สำหรับธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ครึ่งหนึ่งยังคงเป็นธุรกิจประเภทอาหาร ขณะที่ธุรกิจการศึกษา สำหรับปีนี้มองว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจสอนภาษาจะบูมมากๆ เป็นผลจากการเปิด AEC นั่นเอง แต่จะไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวแล้ว จะมีธุรกิจสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม พม่า หรืออื่นๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการแฟรนไชส์ในธุรกิจสอนภาษารายเดิมจะมีการปรับตัว หันไปเปิดสอนภาษาในอาเซียนเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็จะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้จากตัวเลขทิศทางธุรกิจแฟรนไชส์จะยังคงเติบโตได้ แต่ถือว่าไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจากในอดีตแต่ละปีการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวจะอยู่ที่ปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีความเสี่ยงมากมายเกิดขึ้นนั้น จะพบว่ามีผู้ประกอบการแฟรนไชส์ได้พยายามปรับตัวในการพัฒนาตนเอง รวมถึงได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะรับมือกับการเปิด AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า
“สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ คุณต้องสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กรก่อน ส่วนตลาดจะรองรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าคุณแข็งแรงแล้ว เมื่อใดก็ตามที่ตลาดพร้อม คุณก็จะเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งช่วงนี้ถือว่าเหมาะสุด ในการที่จะพัฒนาคน พัฒนาระบบการจัดการต่างๆ เพราะถ้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีๆ คุณก็คงไม่มีเวลามาทำเรื่องเหล่านี้หรอก ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามช่วยกันผลักดันในการเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจแฟรนไชส์มาโดยตลอด จนถึงวันนี้เราสามารถปั้นผู้ประกอบการหัวกะทิ ที่มีความแข็งแกร่ง สามารถที่จะออกไปทำตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ มากกว่า 30-40 บริษัทแล้ว ถือเป็นความภูมิใจของผมในรอบ 20 ปีนี้เลยก็ว่าได้”
ทั้งนี้ นายพีรพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมุมมองความคิดของผู้ประกอบการแฟรนไชส์นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งได้มีการวางแผนในเรื่องของ Business Concept มากขึ้น ซึ่งเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผู้ประกอบการไทยยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า Business Concept นั้นคืออะไร ทั้งที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ดี นับว่าวันนี้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยมีความเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ไม่สามารถที่หยุดพัฒนาตัวเองได้ เพราะเป้าหมายของผู้ประกอบการแฟรนไชส์ คือการออกไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันก็มีธุรกิจแฟรนไชส์รุ่นพี่ที่ออกไปประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น แบล็คแคนยอน โมลีแคร์ เป็นต้น ถือเป็นตัวอย่างที่รุ่นน้องต่อๆ ไปต้องก้าวเดินตามรอย