SME เกือบครึ่งไม่พร้อมรับมือน้ำท่วม

ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) ได้สำรวจความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกี่ยวกับการเตรียมตัวรับมือกับโอกาสเกิดน้ำท่วมในปี 2555 โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบการ 427 ราย ใน 12 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมหาอุทกภัยในปี 2554 ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก

            ศูนย์วิจัย  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC)  ได้สำรวจความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกี่ยวกับการเตรียมตัวรับมือกับโอกาสเกิดน้ำท่วมในปี 2555  โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบการ  427 ราย  ใน 12 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมหาอุทกภัยในปี 2554  ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ  นนทบุรี  ปทุมธานี  พระนครศรีอยุธยา  อ่างทอง  ลพบุรี  อุทัยธานี นครสวรรค์  สุโขทัย  พิจิตร  กำแพงเพชร  พิษณุโลก  


            ทำการสำรวจในระหว่างวันที่  20 ถึง 24 กุมภาพันธ์  2555  ในประเด็นต่อไปนี้  การคาดการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงของน้ำท่วมในปี 2555  การรับทราบและความเชื่อมั่นในนโยบายบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล  การเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมของผู้ประกอบการ  และความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ

            ด้านการคาดการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงของน้ำท่วม  กลุ่มตัวอย่าง 17.3%  คาดว่าปีนี้น้ำท่วมจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา  19.7%  เท่ากับปีที่ผ่านมา  25.1%  รุนแรงน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  19.9%  น้ำไม่ท่วม  และอีก 18.0%  ไม่แน่ใจ

            เมื่อสอบถามว่าทราบถึงแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลหรือไม่  70.3%  ทราบถึงแผนดังกล่าว  29.7%  ไม่ทราบ  อย่างไรก็ตาม  ในกลุ่มที่ทราบถึงแผนบริหารจัดการน้ำ  42.1%  ระบุว่า  แผนยังไม่มีความชัดเจนพอ  28.2%  ระบุว่า  แผนมีความชัดเจนแล้ว

            ระดับความเชื่อมั่นในแผนบริหารจัดการน้ำ  9.5%  เชื่อมั่นมาก  35.4%  ค่อนข้างเชื่อมั่น  32.8%  ไม่ค่อยเชื่อมั่น  และอีก 22.3% ไม่เชื่อมั่นเลย  ข้อสังเกตที่สำคัญ  คือ  ในกลุ่มที่ระบุว่าไม่เชื่อมั่น (ไม่ค่อยเชื่อมั่น + ไม่เชื่อมั่นเลย)  ซึ่งมีอยู่ 55.1%  นั้น  40.5% เป็นผู้ที่ระบุว่าแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐยังไม่มีความชัดเจนพอ

            กลุ่มตัวอย่าง 56.3 %  ระบุว่า  มีแผนรับมือกับน้ำท่วม  43.7%  ไม่มีแผนรับมือกับน้ำท่วม  โดยกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่ามีแผนรับมือกับน้ำท่วม  มีความก้าวหน้าในการเตรียมการไปแล้วโดยเฉลี่ยประมาณ 48.7%  

            ส่วนความพร้อมในรายจังหวัด  มีดังนี้  กรุงเทพมหานครฯ 52.3%  ปทุมธานี 52.1%  พระนครศรีอยุธยา 51.4%  อ่างทอง 47.1%  นนทบุรี 45.5%  ลพบุรี 43.8%  นครสวรรค์ 40.4%  พิจิตร  39.7%  สุโขทัย 38.5%  อุทัยธานี 36.8% กำแพงเพชร 33.7%  และพิษณุโลก 31.2%

            เมื่อสอบถามถึงรายละเอียดการเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม  ตามหลักแผนประคองกิจการ (Business Continuity Plan)  พบว่า วิธีการเตรียมตัวที่ผู้ประกอบการในภาคการผลิต   ภาคการค้า  และภาคบริการ  ส่วนใหญ่มี 3 วิธีด้วยกัน การซื้อเรือไว้ใช้  74.6-80.8%  การย้ายสายไฟ  อุปกรณ์ไฟฟ้า  และเครื่องมือเครื่องจักรไว้ในที่สูง  65.9-75.5% และมีฐานข้อมูลสำรองของลูกค้าและบริษัท  52.1-66.7%

            กลุ่มตัวอย่าง 15.7%  ระบุว่า  มีประกันที่ครอบคลุมถึงการเกิดน้ำท่วม  22.9%  ยังไม่มีประกัน  แต่วางแผนจะทำ  และอีก 61.4%  ไม่มีประกัน  และจะไม่ทำ   โดย  21.0% ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้  ไม่ทำประกัน  เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป  14.3%  เคยติดต่อกับบริษัทประกันแล้ว  แต่ได้รับการปฏิเสธ  18.1%  คาดว่าน้ำจะไม่ท่วม  และอีก  8.0%  เชื่อว่าได้เตรียมการป้องกันไว้ดีแล้ว  ไม่จำเป็นต้องทำประกัน

            สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ  (ตอบได้ 3 ข้อ)  69.9%  ต้องการให้รัฐบาลส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อวางแผนรับมือกับน้ำท่วม  65.7%  ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องล่วงหน้า  60.6%  ตรวจตราดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสถานประกอบการอย่างเข้มงวด  50.3%

            จัดหาอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม  เพื่อลดความเสียหาย  47.2%  จัดหาสถานที่ทำการผลิต/ประกอบธุรกิจ  เป็นการชั่วคราวในพื้นที่อื่น  35.3%  จัดการขนส่งวัตถุดิบ  สินค้า และพนักงาน  เพื่อให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้  21.1%  ต้องการความช่วยเหลือด้านอื่นๆ  เช่น  การจัดเรือท้องแบนเก็บขยะบริเวณสถานประกอบการ  ระบบติดต่อสื่อสาร   การลดหย่อนภาษี  เป็นต้น

            ทั้งนี้ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า เอสเอ็มอี  ไม่เหมือนกับบริษัทใหญ่ที่มีเงิน  มีคน  มีความรู้  มีทรัพยากรเพียงพอ  แถมเอสเอ็มอีเองก็ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเหมือนบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม   ที่มีการดูแลป้องกันอย่างเป็นระบบด้วยงบประมาณมหาศาล  เอสเอ็มอีแต่ละรายก็เลยต้องรับมือกับน้ำท่วมด้วยตัวเอง  จนถึงทุกวันนี้  แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐ  ยังไม่มีความชัดเจนว่า   มีมาตรการอะไรไว้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีบ้าง  หากเป็นเช่นนี้ต่อไป  ถ้าเกิดน้ำท่วมจริง  ปีนี้เอสเอ็มอีเจ็บตัวหนักแน่นอน
 
 

NEWS & TRENDS