กรมอุตฯ ติดตามผลฟื้นฟูSMEน้ำท่วม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าโครงการคลินิกอุตสาหกรรมฟื้นฟูเอสเอ็มอี ล่าสุดลงพื้นที่นวนคร ติดตามผลการช่วยเหลือ หลังส่งทีมเชี่ยวชาญช่วยซ่อมแซมเครื่องจักร-อุปกรณ์ที่เสียหาย วางเป้าหนุนเอกชนจัดทำโรดแมปสร้างแผนป้องกันทุกวิกฤตในอนาคต เผยโรงงานเดินเครื่องผลิตได้ เตรียมเพิ่มกำลังผลิตรับออเดอร์เริ่มกลับคืน พร้อมแย้มแผนเล็งส่งออกในอนาคต

       กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  เดินหน้าโครงการคลินิกอุตสาหกรรมฟื้นฟูเอสเอ็มอี  ล่าสุดลงพื้นที่นวนคร   ติดตามผลการช่วยเหลือ หลังส่งทีมเชี่ยวชาญช่วยซ่อมแซมเครื่องจักร-อุปกรณ์ที่เสียหาย วางเป้าหนุนเอกชนจัดทำโรดแมปสร้างแผนป้องกันทุกวิกฤตในอนาคต   เผยโรงงานเดินเครื่องผลิตได้ เตรียมเพิ่มกำลังผลิตรับออเดอร์เริ่มกลับคืน พร้อมแย้มแผนเล็งส่งออกในอนาคต  

        นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  จากวิกฤตมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อทุกภาคส่วนในช่วงปีที่ผ่านมา  กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่  โดยในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนิน “โครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย” ซึ่งจนถึงขณะนี้มีสถานประกอบการจำนวนกว่า 4,000 ราย ที่เข้ามาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรม  จากเริ่มต้นการดำเนินโครงการฯ จนถึงปัจจุบันสามารถเข้าช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้จำนวน 700 ราย  โดยมีเป้าหมายดำเนินโครงการฯให้แล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม ปี 2555

        โครงการดังกล่าวฯ เป็นการส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  ในเบื้องต้น ในด้านของการวินิจฉัยประเมินความเสียหาย การทำความสะอาดสถานที่  เครื่องจักร อุปกรณ์ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำการซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก  เพื่อให้สามารถพลิกฟื้นกลับคืนสู่ระบบการผลิตให้ได้โดยเร็วที่สุด  

        ล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี  เพื่อติดตามการฟื้นฟูสถานประกอบการเอสเอ็มอี ใน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อินเตอร์โปรไฟล์ จำกัด และบริษัท โปลีโฟมไฮเทค จำกัด ซึ่งทั้ง 2 แห่งอยู่ภายใต้โครงการฯดังกล่าว  ได้รับการฟื้นฟูเชิงลึกใน 2 ด้าน คือ 1.การฟื้นฟูกระบวนการผลิต เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ การจัดวางผังโรงงาน การปรับกระบวนการผลิต ให้สอดคล้องกับสภาวะที่มี เพื่อให้การดำเนินการผลิตกลับมาดำเนินการได้โดยเร็วที่สุด  2.การฟื้นฟูกระบวนการธุรกิจ เป็นการหาช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนเชื่อมโยงสถานประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความพร้อมรับช่วงการผลิตในเบื้องต้น เพื่อให้การจัดจำหน่ายสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง 

“การฟื้นฟูสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยให้กลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิต (Supply Chain) ของประเทศกลับสู่ภาวะปกติ  นอกจากการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบการแล้ว  แผนระยะต่อไปจะมุ่งเน้นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (โรดแมป) เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้แม้จะอยู่ในภาวะที่ประสบวิกฤตต่างๆ ในอนาคต” นายพสุ กล่าว

 

NEWS & TRENDS