ธุรกิจจัดประชุม-แสดงสินค้ามีจุดอ่อนไม่พร้อมรับ AEC
ศศินทร์เผยธุรกิจจัดการประชุม-แสดงสินค้าไทยมีจุดอ่อนขาดความรู้และความเชี่ยวชาญไม่พร้อมแข่งขัน จับมือสสปน.ผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยให้มีศักยภาพรับมือ
ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย ว่า ที่ผ่านมาศศินทร์ได้มีความร่วมมือกับทาง สสปน. ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศมาโดยตลอด และโครงการล่าสุดก็คือได้ร่วมกับทางฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของ สสปน. ในการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนสำหรับการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ (MICE)
โดยทางศศินทร์ได้ส่งทีม Sasin Management Consulting ซึ่งเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษากับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อทำหน้าที่กำหนดกลยุทธ์และวางแผนการตลาด เข้าไปให้คำปรึกษาและร่วมมือกับทาง สสปน.ในการพัฒนาแผนแม่บทอุตสาหกรรมไมซ์ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2555 – 2559) โดยกรอบของโครงการดังกล่าวได้มุ่งไปที่การศึกษาทิศทางและแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ให้มีศักยภาพสำหรับการเป็นผู้นำในการจัดงานไมซ์ในระดับภูมิภาคและในระดับโลก เพื่อรองรับการเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 รวมถึงการพัฒนาและวางรากฐานของอุตสาหกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการพื้นฐาน การตลาดและการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเรื่องบุคลากรให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการทำงาน
“บทบาทของศศินทร์ในการเข้าไปให้คำปรึกษาและร่วมมือกับ สสปน. ในการพัฒนาแผนแม่บทอุตสาหกรรมไมซ์ในระยะ 5 ปีดังกล่าว ถือว่าเป็นการวางแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและผู้ประกอบการของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล โดยการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ทั้งในรูปแบบภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยยังมีจุดอ่อน เช่น บุคลากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในระดับพื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรม” ผศ.ดร.กฤษติกากล่าว
ทั้งนี้การพัฒนาหลักสูตรวิชาดังกล่าวจะทำให้บุคลากรมีความพร้อมในการทำงานท่ามกลางการแข่งขันในระดับนานาชาติ ขณะนี้หลักสูตรดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการและพัฒนา คาดว่าจะ
เสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2555 หลังจากนั้นทาง สสปน.โดยฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์จะบรรจุวิชาดังกล่าวไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและพร้อมที่จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ