ท่องเที่ยวรื้อกม.ครั้งใหญ่รองรับเออีซี
กระทรวงท่องเที่ยวฯ เตรียมศึกษาแก้กฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวที่ไม่เอื้อต่อการเปิด เออีซี ที่จะเกิดขึ้นในปี 58 เดินหน้าตั้งกองทุนช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ถูกหลอกลวง
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมทบทวนระเบียบกฎหมายและ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว พ.ศ.2551 เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 เพื่อปลดล็อกกฎหมายบางข้อที่ขัดต่อการเปิดเสรีในการเข้ารวมกับ เออีซี พร้อมทั้งศึกษาตั้งกองทุนเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวที่ถูกหลอกลวง
นายวัชระกล่าวว่า การเข้ารวมเป็น เออีซี เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนัก โดยจะเข้าไปดูกฎหมายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว มีหลายฉบับต้องไปศึกษาอย่างรอบคอบว่ามีกฎหมายตัวไหนบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การเข้ารวมกับ เออีซี เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ และหลังจากที่ได้มีการตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยว ในปี 2558 ไว้ที่ 30 ล้านคน เราจะไม่เน้นเรื่องนี้ มีหลายปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ต่อจากนี้
สำหรับแนวคิดจะตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ถูกหลอกลวง เนื่องจากปัจจุบันการดูแลนักท่องเที่ยว มีเพียงศูนย์อำนวยการและบริการนักท่องเที่ยวการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ถูกหลอกลวง จะต้องมีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่มารับผิดชอบดูแล หลังจากนี้จะมีการไปพูดคุยกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยวต่างๆ เพราะจะช่วยให้การดูแลนักท่องเที่ยวทำได้ดีขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสมัยรัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงในประเทศไทย โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ซึ่งมีการอนุมัติงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินงาน ซึ่งในวงเงินงบดังกล่าว น่าจะขยายขอบเขตการดำเนินงานได้ครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวด้วย เพราะปัจจุบันมีศูนย์บริการอยู่สนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว ซึ่งจังหวัดที่สมควรตั้งศูนย์ฯ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่
จากสถิติการขอรับบริการ ศูนย์อำนวยการและบริการนักท่องเที่ยว ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่กลางปี 54 พบว่า นักท่องเที่ยวมาใช้บริการขอข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวมากที่สุดเฉลี่ย 2,600 รายต่อเดือน รองมาคือ ขอความช่วยเหลือล่ามแปล ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การท่าอากาศยาน, ด่านตรวจคนเข้าเมือง, กรมศุลกากร และตำรวจท่องเที่ยว เฉลี่ยเดือนละ 30 ราย.
ที่มา : ไทยโพสต์