โพลชี้ SME 7 จังหวัดเกินครึ่งพร้อมขึ้นค่าแรง

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2 ใน 3 พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 51.1 % ต้องการให้รัฐยืดอกรับภาระค่าแรง 40% เตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า

       ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2 ใน 3 พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  51.1 % ต้องการให้รัฐยืดอกรับภาระค่าแรง  40% เตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า


        ศูนย์วิจัย  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ได้สำรวจความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกี่ยวกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ  ในจังหวัดนำร่อง 7  จังหวัด  ได้แก่  ได้แก่ กรุงเทพฯ  นนทบุรี  ปทุมธานี  สมุทรปราการ  สมุทรสาคร  นครปฐม  และภูเก็ต  โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 512 ราย  ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 ถึง 25 มกราคม 2555    ประเด็นที่ทำการสำรวจ  คือ  ทัศนคติและความพร้อมในการปรับขึ้นค่าแรง  ระดับค่าแรงในช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ  สัดส่วนของค่าแรงต่อต้นทุนในการทำธุรกิจ  มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล  มาตรการที่เหมาะสมที่สุดในการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  การปรับตัวในระยะสั้น  และการปรับตัวในระยะยาว

 
        ผลการสำรวจพบว่า ณ ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ  ผู้ประกอบการ 54.5% จ่ายค่าแรงโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน  11.2% จ่ายค่าแรงโดยเฉลี่ยเท่ากับ 300 บาท  34.3% จ่ายค่าแรงโดยเฉลี่ยสูงกว่า 300 บาทต่อวัน  
สัดส่วนของค่าแรงเทียบกับต้นทุนในการทำธุรกิจ  จำแนกตามประเภทของอุตสาหกรรม  มีดังนี้  ในภาคการผลิต  ค่าแรงคิดเป็น 37.4% ของต้นทุน   ภาคการค้าปลีกค้าส่ง ค่าแรงคิดเป็น 42.1% ของต้นทุน  และภาคบริการ  ค่าแรงคิดเป็น 49.2% ของต้นทุน
 
        จากการสำรวจพบว่า  ผู้ประกอบการ  53.4% เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ   46.6% ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ   อย่างไรก็ตาม  เมื่อสอบถามถึงความพร้อมในการปรับขึ้นค่าแรงภายในวันที่ 1 เมษายน 2555  ผู้ประกอบการ  66.3% พร้อมทำตามนโยบาย   33.7% ยังไม่พร้อมทำตามนโยบายดังกล่าว  
 
       เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของความไม่พร้อมของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554  พบว่า  52.1% ธุรกิจยังไม่พื้นตัวอย่างสมบูรณ์   28.4% คาดการณ์ว่าต้นทุนในการทำธุรกิจในปีนี้จะสูงขึ้น   15.5% ไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจในปี 2555  และอีก 4.0% เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น  กำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ  ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบด้านต้นทุนได้ชัดเจน  ไม่แน่ใจว่าจะปรับราคาขึ้นได้มากน้อยเพียงใด  เป็นต้น
 
       สำหรับสาเหตุของความไม่พร้อมของผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554  พบว่า  56.3%  คาดการณ์ว่าต้นทุนในการทำธุรกิจในปีนี้จะสูงขึ้น  22.7% ไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจ  10.4% ไม่แน่ใจว่าจะปรับราคาขึ้นได้มากน้อยเพียงใด  10.6% เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น  กำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ  ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบด้านต้นทุนได้ชัดเจน  เป็นต้น
 
ด้านการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30%  เป็น 23%  ผู้ประกอบการ 49.5%  ระบุว่าเพียงพอที่จะชดเชยกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น 50.5% ระบุว่าไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น  เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจมีกำไรน้อยอยู่แล้ว    โดยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 15%-20% 
 
เมื่อสอบถามถึงมาตรการที่เหมาะสมที่สุดในการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  ผู้ประกอบการ  51.1 %  ระบุว่าการจ่ายเงินอุดหนุนส่วนต่างของค่าแรงที่เกิดขึ้นเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุด  20.7% การลดภาษีเงินได้ภาษีนิติบุคคล   17.2%  ต้องการให้มีจัดการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน  10.4%  ต้องการให้ลดเงินสมทบเข้าประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง  อีก 0.6% ต้องการให้ใช้มาตรการอื่นๆ เช่น  การส่งเสริมการตลาด   พัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ  เป็นต้น
 
สำหรับการปรับตัวในระยะสั้น (ตอบได้ 2 ข้อ)  58.2%  ระบุว่า  แรงงานต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   39.8% ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ   35.3%  เข้มงวดในการคัดเลือกพนักงานให้มากขึ้น  25.4%   ลดช่วงเวลาและค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลา   22.2%  ลดต้นทุนการผลิตในส่วนอื่น   15.3%  ปรับตัวโดยการรับเหมางานโดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น  และอีก 2.1%  เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ใช้แรงงานน้อยกว่าหรือเลิกกิจการ
 
สำหรับการปรับตัวในระยะยาว  45.3%  ใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานมากขึ้น   30.7% ลดตำแหน่งงานลงโดยการไม่รับพนักงานใหม่มาแทนตำแหน่งเดิม   19.5% ปรับโครงสร้างของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  และอีก  4.5%  ปรับตัวด้วยวิธีการอื่น  เช่น  เลิกกิจการ  เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น  หรือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า 
 
ดร.เกียรติอนันต์  ล้วนแก้ว  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  กล่าวว่า “มาตรการลดภาษีเป็นมาตรการที่ใช้ได้กับบริษัทที่มีขนาดใหญ่  ที่มีกำไรสูง  สำหรับเอสเอ็มอีซึ่งกำไรต่ำ อัตราภาษีที่ ไม่เพียงพออย่างแน่นอน  ทำให้เอสเอ็มอีเกือบครึ่งหนึ่งวางแผนบรรเทาผลกระทบด้วยการปรับราคาสินค้า  ไม่ช้าก็เร็ว  ผลกระทบนี้จะวกกลับมาหาประชาชนในรูปของค่าครองชีพที่สูงขึ้น และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ  ผู้มีรายได้น้อย  ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั่นเอง” 
 
อ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ webborad (Member Zone)

NEWS & TRENDS