เอกชนผวาดีเซลแตะ39บาทต่อลิตร
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5.31 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ม.ค.นี้ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นอีก 7-8 บาทต่อลิตร หรือแตะระดับ 39 บาทต่อลิตร จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น 4-5% จึงต้องการให้รัฐบาลทยอยเก็บภาษีสรรพสามิต ดีเซลหรือต่ออายุมาตรการออกไปก่อน
นอกจากนี้ วันที่ 1 เม.ย.นี้ จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน นำร่องใน 7 จังหวัดก็จะเป็นอีกปัจจัยที่กระทบต้นทุนการผลิตสินค้าประมาณ 10% และผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะปรับตัวสูงขึ้น จากการที่รัฐบาลจะผลักดันหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านบาท ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบ ล้วนซ้ำเติมต้นทุนการผลิตและมีผลต่อราคาสินค้าอย่างแน่นอน
"ต้องการให้รัฐบาลทยอยเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อให้ ผู้ประกอบการได้ปรับตัวด้านต้นทุนการผลิตสินค้า ไม่ใช่กลับมาเก็บตูมคราวเดียว 5 บาทต่อลิตรเลย ผู้ประกอบการก็คงช็อก และราคาขายปลีกดีเซลคงเพิ่มถึงระดับ 39 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า 4-5% รวมทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ผู้ประกอบการคงพร้อมใจกันขึ้นราคาสินค้าแน่นอน แต่ถ้าน้ำมันดีเซลปรับขึ้นแค่ 1-2 บาทต่อลิตร คงไม่มีผู้ผลิตรายใดปรับขึ้น เพราะส่วนหนึ่งกลไกตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรงกำลังซื้อผู้บริโภคก็ยังไม่ดีมากนัก" นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ ต้องจับตาดูราคาสินค้าหลังวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัด เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการหลายส่วนมีความกังวลกันมาก สินค้าบางรายการผลิตไปมีกำไร 5-10% แต่ค่าแรงขึ้นทีมีผลต่อต้นทุนประมาณ 10% ซึ่งโดยปกติหากต้นทุนขึ้นแค่ 7% ผู้ผลิตถ้าไม่ปรับราคาขึ้นก็ตาย แต่พอปรับขึ้นก็เหมือนไปตายเอาดาบหน้า เพราะของแพงผู้บริโภคก็ซื้อน้อยลง แต่ยังไงก็ต้องเลือกปรับขึ้นไปตายเอาดาบหน้าดีกว่าตายเลยในวันนี้
ที่มา : ข่าวสด