พาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกเฝ้าระวังปัญหาการค้าระหว่างประเทศ หลังประเทศคู่ค้าผุดมาตรการคุมทางการค้ามากขึ้น เผยสหรัฐชูนโยบาย Buy American ด้านอียูเข้มนำเข้าอาหารและ ของเล่นเด็ก เผยในอาเซียนอินโดนีเซียเข้มสุด
“พาณิชย์” เตือนผู้ส่งออกเฝ้าระวังปัญหาการค้าระหว่างประเทศ หลังประเทศคู่ค้าผุดมาตรการคุมทางการค้ามากขึ้น เผยสหรัฐชูนโยบาย Buy American ด้านอียูเข้มนำเข้าอาหารและของเล่นเด็ก เผยในอาเซียนอินโดนีเซียเข้มสุด
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2555 หลายประเทศยังคงประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรป ที่ยังมีปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ ซึ่งจนถึงปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ส่งผลให้ยังคงมีการนำมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจใหม่อย่าง BRIC ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ก็มีแนวโน้มกำหนดนโยบายมุ่งปกป้องตลาดภายใน ด้วยการกำหนดมาตรการจำกัดทางการค้ารูปแบบต่างๆ ออกมา
ทั้งนี้ มาตรการทางการค้าที่น่าจับตาของสหรัฐ คือการออกกฎหมาย American Economic Recovery and Reinvestment Act ส่งผลให้มีการนำนโยบาย Buy American มาใช้มากขึ้น ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาอาคาร ตลอดจนการก่อสร้างสาธารณะต้องใช้วัสดุภายในประเทศทั้งหมด อีกทั้งการจัดซื้อสิ่งทอของหน่วยงาน Department of Homeland Security เช่น เสื้อผ้า เต็นท์ ผ้าฝ้าย ผ้าใยธรรมชาติ ต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเท่านั้น
ส่วนสหภาพยุโรปมีการเข้มงวดการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารนำเข้าและของเล่นเด็ก ด้วยการออกระเบียบกำกับการขนถ่ายสินค้าที่นำเข้าเพื่อส่งกลับออกไป ซึ่งครอบคลุมสินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพืชที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค และผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ฝรั่งเศส ห้ามใช้สาร BPA (Biphenol A) ในวัสดุสัมผัสอาหารทุกประเภท เนื่องจากเป็นสารอันตรายต่อระบบประสาท และเดนมาร์ก เก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากกว่าร้อยละ 2.3
สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น จีน มีการใช้นโยบาย Buy Chinese และมีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นมีการออกมาตรการ Food Action Nippon มุ่งส่งเสริมสินค้าเกษตรภายในประเทศ พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยอาหารนำเข้า อินเดียนำระบบใบอนุญาตนำเข้าสำหรับสินค้าอ่อนไหวมาใช้บังคับ กำหนดมาตรฐานใหม่ผลิตภัณฑ์เหล็ก และออกระเบียบการตรวจสอบรับรองคุณภาพยาง เช่นเดียวกับเกาหลีที่กำหนดให้สินค้ายางต้องผ่านกระบวนการ Conformity Assessment เป็นต้น
"ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มการใช้มาตรการทางการค้าในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย นำระบบใบอนุญาตนำเข้าและตรวจสอบก่อนขนส่งมาใช้กับสินค้ากว่า 500 ชนิด เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น รองเท้า อาหาร และเครื่องดื่ม รวมทั้งผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะกว่า 200 ประเภท การบังคับให้ติดฉลาก Bahasa Indonesia สำหรับสินค้านำเข้าประเภทแบตเตอรี่ เตาแก๊ส หมวกกันน็อก ลูกสูบเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG เครื่องปั๊มน้ำ และกระเบื้องปูพื้น" นายสุรศักดิ์กล่าว.
ที่มา : ไทยโพสต์