อุตดันแผน 2 ครัวไทยสู่ครัวโลก

อุตดันแผน 2 ครัวไทยสู่ครัวโลก

    นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า คณะกรรมการเพื่อติดตามนโยบายด้านอาหารไทยและครัวไทยสู่ครัวโลกที่มี น.ส.กฤษณา รวยอาจิน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้มอบหมายให้สถาบันอาหารทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารของโลก (Thailand Food Quality to the World) ปี 2555-2557 ซึ่งเป็นแผนที่ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกระยะที่ 1 (2547-2552)

    โดยแผนครัวไทยสู่ครัวโลกระยะที่ 2 การเพิ่มคุณภาพการผลิตสินค้าอาหารของไทย และต่างจากแผนระยะที่ 1 ที่เน้นการส่งเสริมร้านอาหารไทย ซึ่งสถาบันอาหารจะบูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารเพื่อทำเป็นแผนครัวไทยสู่ครัวโลกระยะยที่ 2 และจะจัดทำเสร็จภายในเดือน ก.พ.2555 เพื่อเสนอ น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป

    นายเพ็ชร กล่าวว่า การยกระดับมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยจะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมทั้งต้องพัฒนาผู้ผลิตอาหารทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอีและโอท็อปให้มีศักยภาพในการผลิตอาหารส่งออกได้ และจะส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารพร้อมรับประทานเพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นไปตามแนวโน้มของตลาดที่ต้องการอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น โดยการทำงานจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์

    แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ร่างแผนครัวไทยสู่ครัวโลกระยะที่ 2 จะใช้งบประมาณ 1,900 ล้านบาท ภายใน 3 ปี โดยการดำเนินการในปี 2555 จะเน้นการพัฒนาโรงงานอาหารของไทยให้มีศักยภาพส่งออก ยกระดับและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบการเกษตรให้เชื่อมโยงกับการผลิตสินค้าส่งออกได้ พัฒนาธุรกิจอาหารไทยและผู้ปรุงอาหารไทยให้ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาราลอย่างครบวงจรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกระดับการผลิตอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน รวมทั้งส่งเสริมครัวไทยและสร้างอัตลักษณ์อาหารไทย

    ทั้งนี้ สำหรับแผนครัวไทยสู่ครัวโลกระยะที่ 1 ได้รับงบประมาณ 500 ล้านบาท โดยในช่วงปี 2547-2552 พร้อมยกระดับการบริหารจัดการร้านอาหารไทยและประสานสถาบบันการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งทำให้มีร้ายอาหารไทยเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ร้าน เป็น 13,149 ร้าน ในปี 2551 และมอบตราสัญลักษณ์ “Thai Select” ให้กับร้านอาหารไทย 1,179 ร้าน ในปี 2551 โดยส่วนใหญ่พบปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างประเทศขาดเงินทุน รวมทั้งต้องพึ่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นในเอเชีย และโรงงานผลิตอาหารระดับเอสเอ็มอียังไม่ได้มาตรฐาน

 

ที่มา : บ้านเมือง


NEWS & TRENDS