กรอ.ที่มี "ยิ่งลักษณ์" เป็นประธาน ประชุมร่วมกับเอกชนนัดแรก ในวันที่ 15 มกราคมนี้ ขณะที่ สภาอุตฯ จี้ให้เร่งเมกะโปรเจกท์รถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทาง "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" พร้อมขอความชัดเจนของแผนบริหารจัดการ ป้องกันน้ำท่วมซ้ำ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการภาคเอกชนร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย นัดประชุมวันที่ 9 มกราคมนี้ โดยมี วาระการหารือเพื่อเตรียมการประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)ที่จะมีการจัดขึ้นที่จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 15 มกราคมนี้
โดยการประชุม กรอ.ที่จะมีขึ้น นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นประธานในการประชุม และถือเป็นการประชุม กรอ.นัดแรกที่เอกชนจะได้หารือกับรัฐบาลชุดใหม่ โดยจะมีหน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฯลฯ ร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ สอท.จะนำเสนอเรื่องระบบการขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร และ ภาคเหนือ เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน)กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และรถไฟเชื่อมต่อระหว่าง กรุงเทพฯ-เชียงราย เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการขนส่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า
ก่อนหน้านี้ นายสี จิ้น ผิง รองประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางมาเยือนไทย พร้อมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ใน โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่-ลาว-ประเทศอาเซียน เรียบร้อยแล้ว
"ในการประชุมกรอ.ครั้งนี้ถือเป็นนัดแรกที่ภาครัฐและเอกชนจะได้หารือร่วมกัน หลังจากที่ภาคเอกชนรอคำตอบจากรัฐบาลชุดนี้ มาเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมา เคยขอเข้าร่วมประชุมหลายครั้งแต่ยังไม่มีการเรียกประชุม จึงเป็นเรื่อง ที่ดี ที่ภาครัฐให้ความสนใจที่จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อจะได้เข้าใจถึงอุปสรรค ปัญหา และข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนจากทุกหน่วยงาน" นายธนิต กล่าว
นายธนิตกล่าวอีกว่า นอก จากนี้ที่ประชุมกรอ. จะมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับ ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางในการฟื้นฟูกิจการให้ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ตลอดจนพิจารณาปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูกิจการและการเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะเดียวกันจะมีการรายงานความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ด้วย
ขณะที่ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสอท.กล่าวว่า แนวโน้มการผลิตรถยนต์ในปี 2555 คาดว่าจะปรับ เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคัน จากสัญญาณบวกที่ค่ายรถยนต์ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาฟื้นการผลิตหลังน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขยอดการผลิตรถยนต์ปีนี้ใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มจากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 2 ล้านคัน
ด้านนายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำท่วมต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ว่า แม้ช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างหนัก แต่ค่ายรถยนต์ ก็ได้จ่ายโบนัสแก่พนักงานใน อัตราที่สูงเกือบทุกค่ายเฉลี่ย 5-6 เดือน และสูงกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนที่จ่ายโบนัสพนักงานเฉลี่ย 2-3 เดือน
นอกจากนี้ มีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย ได้แก่ โตโยต้า และอีซูซุ มีแผนจะขยายกำลังการผลิตรถยนต์เพิ่มไม่ต่ำกว่า 100,000 คันต่อปี เนื่องจากปัจจุบัน เต็มกำลังการผลิตแล้ว แต่จากปัญหา น้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทยังรอแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลก่อน รวมถึงดูทิศทางตลาดและนโยบายรถยนต์ ของไทยด้วย
สำหรับปี 2555 จะมีโรงงานประกอบรถยนต์ 3 แห่ง ที่สร้างเสร็จ มีกำลังการผลิตรวม 500,000 คันต่อปี ประกอบด้วย ค่ายฟอร์ด ที่จะผลิตรถยนต์ทั่วไป รวมถึงค่ายซูซูกิ และ มิตซูบิชิ ที่จะผลิตรถยนต์อีโคคาร์เข้าทำตลาดรถยนต์เพิ่ม โดยปีแรกในการเดินเครื่องการผลิตยังไม่สามารถใช้กำลังผลิตได้เต็ม 100%
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สอท. กล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์หลายแห่งได้เตรียมแผนขยายกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในทั้งและต่างประเทศที่ยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะรถยนต์ ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) และรถกระบะ เนื่องจากทุกค่ายยังมั่นใจศักยภาพของประเทศไทย แม้ว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หลายแห่งจะถูกน้ำท่วม ก็ตาม
ที่มา : แนวหน้า