ก.ล.ต.กระทุ้งกรมสรรพากร ยกเว้นเก็บภาษีเงินปันผล 10% ลดความซ้ำซ้อน รองรับเปิดเสรีการเงินตามกรอบ AEC ปี 2558
ก.ล.ต.กระทุ้งกรมสรรพากร ยกเว้นเก็บภาษีเงินปันผล 10% ลดความซ้ำซ้อน รองรับเปิดเสรีการเงินตามกรอบ AEC ปี 2558
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือเสนอไปยังกรมสรรพากรตั้งแต่เดือน พ.ย.2554 เพื่อให้ยกเว้นการเก็บภาษีเงินปันผลที่ปัจจุบันมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ควรจะปรับให้สอดคล้องกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว และเป็นการรองรับการเปิดเสรีการเงิน-การลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะช่วยให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ อัตราภาษีที่ใกล้เคียงกัน ยังเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทที่จดทะเบียนใน 2 ตลาดพร้อมกัน (Dual Listing) อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมสรรพากร โดยขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ
“จากการศึกษาพบว่า อุปสรรคเรื่องใหญ่คือ เรื่องภาษี เพราะบริษัทต่างชาติจะเข้ามาลงทุนจดทะเบียนในไทย การคิดภาษีก็ต่างกัน มีความซ้ำซ้อน ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถรองรับการแข่งขันในอนาคตได้ และเชื่อมั่นว่าหากมีการปรับเปลี่ยนระบบภาษีที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ แล้วนั้น จะช่วยสนับสนุนในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เนื่องจากระบบภาษีจะใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน” นายวรพล กล่าว
นายวรพล กล่าวว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างแก้ไขกฎเกณฑ์การจำหน่ายตั๋วสัญญาใช้เงิน (บีอี) จำนวน 10 ฉบับ เพื่อจะดูแลนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทุนในตั๋วบีอีมากขึ้น และจะออกเกณฑ์ใหม่เพื่อกำหนดให้การจำหน่ายตั๋วบีอีแก่นักลงทุนรายย่อยต้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เพราะปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่เข้าไปลงทุนในตั๋วบีอี แต่ยังไม่มีความเข้าใจว่าตั๋วบีอีไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนกับเงินฝาก ดังนั้น เกรงว่านักลงทุนรายย่อยอาจจะเกิดความเสียหายได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ในเดือน ก.ค.2555
ที่มา : ไทยโพสต์