​ธนาคารโลกชี้การพัฒนาเขตเมืองของไทยยังกระจุกในกรุงเทพฯ

ธนาคารโลกได้เปิดเผยรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ว่า จากการรวบรวมข้อมูลใหม่จากภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่ทางภูมิศาสตร์ (geospacial) ได้แสดงให้เข้าใจถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการพัฒนาเขตเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การวิเคราะห์ใหม่นี้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญในขณะที่โครงสร้าง..



    ธนาคารโลกได้เปิดเผยรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ว่า จากการรวบรวมข้อมูลใหม่จากภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่ทางภูมิศาสตร์ (geospacial) ได้แสดงให้เข้าใจถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการพัฒนาเขตเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การวิเคราะห์ใหม่นี้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองของภูมิภาคนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างทางสังคม
 
    สำหรับประเทศไทย การพัฒนาเขตเมืองกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 และมีประชากรที่เข้าใกล้ 10 ล้านคนในปี 2553 ซึ่งมากเป็นอันดับ 9 ในเอเชียตะวันออก ส่วนเขตเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยล้วนมีประชากรไม่ถึง 500,000 คน
 
    ทั้งนี้ ผลการศึกษา ระบุว่า เขตตัวเมืองในประเทศไทยขยายตัวจาก 2,400 มาเป็น 2,700 ตารางกิโลเมตร ระหว่างปี 2543 ถึง 2553 คิดเป็นอัตราร้อยละ 1.4 ต่อปี ซึ่งช้ากว่าการขยายตัวโดยเฉลี่ยของภูมิภาค (ร้อยละ 2.4)
 
    ประชากรเมืองในประเทศไทย (ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มากกว่า 100,000 คน) เพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้จาก 9.3 ล้านคนมาเป็นประมาณเกือบ 11.8 ล้านคน อัตราโดยเฉลี่ยต่อปีการขยายตัวของประชาการเมืองอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งน้อยกว่าในภูมิภาคเล็กน้อย (ร้อยละ 3.0)
 
    โดยรวม ความหนาแน่นของประชากรเมืองในประเทศไทยอยู่ที่ 4,000 คนต่อตารางกิโลเมตรในปี 2543 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 4,300 คนต่อตารางกิโลเมตรในปี 2553 ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 5,800 คนต่อตารางกิโลเมตรในปี 2553
 
    การพัฒนาเขตเมืองในประเทศไทยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีประชากร 9.6 ล้านคนในปี 2553 ซึ่งเกือบได้รับการจัดอันดับเป็นมหานครของภูมิภาคนี้
 
    เขตเมืองกรุงเทพฯ มีพื้นที่ขยายตัวจาก 1,900 มาเป็น 2,100 ตารางกิโลเมตรในปี 2543 - 2553 ทำให้เป็นเขตเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในเอเชียตะวันออกในปี 2553 ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่ามหานครอื่นๆ อาทิ จาการ์ตา มะนิลา และโซล
 
    อัตราการขยายตัวต่อปีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งถือว่าเป็นเขตเมืองที่ผู้อยู่อาศัยมากกว่า 5 ล้านคนที่โตช้าที่สุดเขตหนึ่งในภูมิภาค โดยที่โตเร็วกว่าเพียง ฮ่องกง จีน และเขตเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น
 
    ในปี 2553 เขตเมืองกรุงเทพฯ นับได้เป็นเกือบร้อยละ 80 จากพื้นที่เขตเมืองในประเทศไทย
 
    ประชากรเมืองในเขตเมืองกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจาก 7.8 ล้านเป็น 9.6 คนระหว่างปี 2453 ถึง 2553 ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างพอประมาณในอัตราร้อยละ 2.0 และมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 9 ในเอเชียตะวันออก
 
    เช่นเดียวกับเขตเมืองใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ การบริหารเขตเมืองกรุงเทพฯ ไม่มีความเป็นเอกภาพ โดยมากกว่าร้อยละ 60 ของเขตเมืองอยู่นอกอาณาเขตการปกครองของสำนักงานกรุงเทพมหานคร
 
    สุราษฎร์ธานีเป็นเขตเมืองที่มีพื้นที่ขยายเร็วที่สุดจาก 20 ตารางกิโลเมตรในปี 2543 มาเป็น 36 ตารางกิโลเมตรในปี 2553 เป็นร้อยละ 5.8 ต่อปี ด้านจำนวนประชากรก็เช่นกันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 62,000 คนมาเป็น 131,000 คนในช่วงเวลาเดียวกัน
 
    ในปี 2553 หาดใหญ่เป็นเขตเมืองที่มีความหนาแน่นมากที่สุดที่ 5,900 คนต่อตารางกิโลเมตรและรองลงมาคือเชียงใหม่ที่ 5,000 คนต่อตารางกิโลเมตร

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

NEWS & TRENDS