ผลการสำรวจ ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่า 70% ของเอสเอ็มอีโดนพิษน้ำท่วม ขณะที่ 20% เลิกจ้างถาวร มีแค่ 17% ที่ต้องการเงินกู้
ผลการสำรวจ ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่า 70% ของเอสเอ็มอีโดนพิษน้ำท่วม ขณะที่ 20% เลิกจ้างถาวร มีแค่ 17% ที่ต้องการเงินกู้
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ร่วมกับนิตยสาร SME Thailand ทำการสำรวจผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมที่มีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี และกำแพงเพชร โดยทำการสำรวจในระหว่างวันที่ 10 ถึง 24 ธันวาคม 2554 มีจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 587 ราย ประเด็นที่ทำการสำรวจ คือ ผลกระทบที่มีต่อการผลิตและรายได้ ผลกระทบต่อการจ้างงาน ระยะเวลาในการฟื้นตัว ความต้องการเงินกู้ และความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เผยผลการสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการ 67.6% ต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว รองลงมา 45.9% ระบุว่าผู้ประกอบการประสบกับปัญหาส่งสินค้าไม่ทัน 33.0% มีปัญหาลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ 28.5% ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ตามกำหนด 28.2% สถานประกอบการได้รับความเสียหาย และ 24.0% สินค้าคงคลังได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังระบุอีกว่า วิกฤติน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน โดย 72.7% ระบุว่าให้มีการหยุดงานชั่วคราว รองลงมา 26.7% ถูกลดเงินเดือน/ค่าจ้าง และ 20.7% ถูกเลิกจ้างถาวร
สำหรับผู้ประกอบการที่ระบุว่าไม่ต้องการเงินกู้นั้น มีสาเหตุมาจากได้รับความเสียหายไม่มากนัก จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงินมี 40.1% รองลงมา 25.9% ระบุว่าไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้เงินคืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด 10.2% ระบุว่ามีแหล่งเงินทุนอื่นอยู่แล้ว 1.2% ระบุว่าได้มีการทำประกันไว้แล้ว และ 5.8% ที่ระบุว่า ไม่ต้องการกู้เงินเนื่องจากสาเหตุอื่น เช่น ต้องการเลิกธุรกิจ เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น หรือยังประเมินความเสียหายไม่เสร็จ คิดเป็น 5.8%
นอกจากเงินกู้และเงินชดเชยความเสียหายแล้ว ผู้ประกอบการยังระบุว่า ต้องการความช่วยเหลืออื่น อาทิ ลดหย่อนเก็บเงินเข้าประกันสังคม, ลดหย่อนภาษี, จัดหาตลาด หรือช่วยซ่อมแซมตรวจสอบเครื่องจักร เป็นต้น
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเงินสดหมุนเวียนสำรองน้อย การขาดรายได้จึงส่งผลกระทบต่อการผลิต การจ้างงาน และผลประกอบการค่อนข้างมาก ส่งผลให้มีความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงในทางธุรกิจได้น้อยลงกว่าเดิม โดยความเสี่ยงสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเผชิญในปี 2555 ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในพื้นที่และภาพรวมของประเทศ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตที่เกิดราคาวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เงินเดือน/ค่าจ้าง และภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอีกกว่า 25% ของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจไม่กู้เงิน ทำให้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องมีคำตอบให้กับผู้ประกอบการที่ชัดเจน ว่าจะเข้ามาการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้เอสเอ็มอีมีความมั่นใจและสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2555” ผอ.ศูนย์วิจัยกล่าว
ดูเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ Member Zone