กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานเอเปคด้าน SMEs ครั้งที่ 33 มุ่งให้เป็นเวทีที่จะผลักดันการเสริมเขี้ยวเล็บของ SMEs เป็นแพ็คเก็จใหญ่ ทั้งในด้านการลดอุปสรรคขัดขวางการส่งออกของ SMEs
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานเอเปคด้าน SMEs ครั้งที่ 33 มุ่งให้เป็นเวทีที่จะผลักดันการเสริมเขี้ยวเล็บของ SMEs เป็นแพ็คเก็จใหญ่ ทั้งในด้านการลดอุปสรรคขัดขวางการส่งออกของ SMEs ไปจนถึงการขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มโอท็อปยกระดับขึ้นยึดพื้นที่ในตลาดโลก และการระดมสร้างความตื่นตัวต่อเทคโนโลยี Cloud Computing เพื่อลดต้นทุนพร้อมขยายศักยภาพเชิงธุรกิจ พร้อมเสนอขออนุมัติ 4 โครงการความร่วมมือ เพื่อเสริมศักยภาพของ SMEs ในการขยายธุรกิจระหว่างกัน
นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC SME Working Group ครั้งที่ 33 รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปข้างเคียงกับการประชุมหลักในระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2554 เพื่อเป็นเวทีในการประสานความร่วมมือด้าน SMEs ของประเทศในกลุ่มสมาชิก ทั้งนี้การที่กลุ่มเอเปคขอให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกเช่นนี้ สะท้อนความมั่นใจของสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจกลุ่มเอเปค ต่อศักยภาพของไทยในการบริหารจัดการการประชุมระดับโลก
ในการนี้ ไทยจะใช้เวทีนี้ยืนยันถึงพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของ SMEs ไทย เพราะแม้ต้องประสบกับมหาอุทกภัยร้ายแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ SMEs ส่วนใหญ่ยังมีศักยภาพที่เข้มแข็ง และมีแนวโน้มการเติบโตโดยมีตัวช่วยสำคัญไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น แนวโน้มการจับจ่ายและการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ภาคท่องเที่ยวที่มีศักยภาพการฟื้นตัวสูง รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของ SMEs ในปี 2555 มีแนวโน้มเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 3.8-4.2 สะท้อนให้เห็นว่า SMEs ไทยยังคงเป็นรากฐานและกลไกสำคัญของระเบบเศรษฐกิจประเทศ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมชี้ด้วยว่า ในการประชุม APEC SME Working Group ครั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ แนวทางลดอุปสรรคด้านการส่งออกสำหรับ SMEs ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนออย่างหลากหลาย อาทิ ปัญหาการขาดศักยภาพที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศและเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดในตลาดโลก แนวทางแก้ปัญหาการขาดช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นอกจากนั้น ยังจะมีการเสนอแนะมาตรการเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง รวมถึงมาตรการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้างและโปร่งใส