แบงก์รัฐลดวงเงินสินเชื่ออ้างความเสี่ยงจากน้ำท่วม

3 สมาคมอสังหาฯ ตั้งวงเสวนา วาดภาพอนาคตธุรกิจอสังหาไทย ชี้ปี 2554 อาการน่าเป็นห่วง หลังโดนน้ำท่วมหลายพื้นที่ จนทำให้ลูกค้างดการโอน การซื้อ ซ้ำแบงก์รัฐยังคุมเข้มการให้สินเชื่อด้วย

     3 สมาคมอสังหาฯ ตั้งวงเสวนา วาดภาพอนาคตธุรกิจอสังหาไทย ชี้ปี 2554 อาการน่าเป็นห่วง หลังโดนน้ำท่วมหลายพื้นที่ จนทำให้ลูกค้างดการโอน การซื้อ ซ้ำแบงก์รัฐยังคุมเข้มการให้สินเชื่อด้วย โอดซบเซาไปถึงปีหน้า จี้รัฐเร่งบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมให้ชัด ขณะที่กรมธนารักษ์ ปรับเพิ่มราคาประเมินที่ดินใหม่ ทั่วประเทศ ชี้เหตุน้ำท่วมเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ไม่ได้เกิดทุกปี ไม่นำมารวมเป็นปัจจัยในการกำหนดราคา

     นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "อสังหาฝ่าวิกฤตน้ำท่วม" ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ว่า ในขณะนี้มีความเป็นห่วงกับนโยบายของธนาคารรัฐที่คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมาก เห็นได้จาก ธนาคารรัฐบางแห่งประกาศว่า จะลดวงเงินกู้ลงในพื้นที่ประสบภัย เพราะเป็นโครงการที่มีความเสี่ยง หรือ ให้ราคาประเมินที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประสบภัยลดลง 20% แสดงให้เห็นว่า ธนาคารรัฐยังไม่ให้ความเชื่อมั่นกับนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล โดย 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เตรียมยื่นหนังสือไปยังภาครัฐ เพื่อให้มีมาตรการดูแลเรื่องดังกล่าวโดยด่วน

     สำหรับธนาคารรัฐที่อยากให้ภาครัฐบาลสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้บริโภค ได้แก่ ธอส., ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพราะหากธนาคารของภาครัฐยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในโครงการที่ประสบภัยน้ำท่วม ก็ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อตามไปด้วย มั่นใจว่าจะกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบอย่างแน่นอน

     นอกจากนี้ยังพบว่า โครงการบ้านในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมลูกค้า ยกเลิกการดาวน์ซื้อบ้านไปแล้ว 10-15% และอยู่ระหว่างตัดสินใจ 20-30% คาดว่า สถานกาณ์ดังกล่าวจะชะลอตัวไปประมาณ 3-6 เดือนนับจากนี้ โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับปรุงโครงการใหม่ทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งแนวทางระยะสั้น คือ เพิ่มแนวทางป้องกันตัวเอง ชะลอเปิดโครงการใหม่ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ทำรั้วเป็นแนวกำแพงดินกั้นน้ำ ทำพื้นที่รับน้ำและบ่อสูบน้ำ รวมทั้งภาครัฐต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นมาอีก และทำแผนผังจัดการน้ำให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

     ด้านนายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านในเขต กทม.และปริมณฑลปี2554 คาดว่าจะอยู่ที่ 280,000 ล้านบาท ลดลง 24-27% จากปีก่อน เพราะในไตรมาสสุดท้ายเกิดน้ำท่วมรุนแรงมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มาก ส่วนปี2555อาจจะเกิดปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นอีก เช่น ปัญหาแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือโรคระบาด จึงอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือ ทั้งการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในพื้นที่อื่น ทั้งในต่างจังหวัด และปริมณฑล ปรับมาลงทุนธุรกิจอื่นๆ จากเดิมลงทุนบ้านเดี่ยวก็ขยายมาลงทุนคอนโดมิเนียม หรือขยายตลาดไปเจาะกลุ่มลุกค้าต่างชาติ ส่วนข้อเสนอไปยังภาครัฐนั้น อยากให้มีมาตรการจัดการน้ำให้ชัดเจนที่สุด วางกฎหมายผังเมืองให้เป็นระบบ หากรัฐสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ เชื่อว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเร็ว

     ด้านนายธำรงค์ ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคจะต้องชะลอตัวซื้อบ้านใหม่ไป 1 ปีอย่าง เพราะความกังวลจากปัญหาน้ำท่วมและตลาดคอนโดมิเนียมก็ไม่ได้รับอานิสงค์ ที่คนหันมาซื้อทดแทนบ้านที่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีอารมณ์ที่จะซื้อบ้านแล้ว และหลังจากนี้ไปราคาคอนโดมิเนียมจะต้องปรับขึ้นทุกปีในระดับ 5-10 %

     นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ยอดการโอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่ในเขต กทม.และปริมณฑล ในไตรมาส 4 นี้คาดว่าจะหดตัวลงไป 50% และในพื้นที่น้ำท่วมหนักคาดว่าจะหดตัว 60 % ทั้งนี้ ประเมินว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านใน เขต กทม.และปริมณฑลปี2554 จะอยู่ที่ 135,000-140,000 หน่วย ลดลงจากปีก่อน ที่มียอดการโอนกรรมสิทธิ์ 178,000 หน่วย ส่วนยอดการโอนกรรมสิทธิ์ในปี2555นั้น ประเมินได้ยากว่าตัวเลขจะออกมาในระดับเท่าใด ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐจะมีแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างชัดเจนเพียงใด หากรัฐมีแผนจัดการน้ำได้เป็นระบบ เชื่อว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 1 ของปี2555 หรือช้าสุดภายในกลางปีหน้า

     ด้านนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาประเมินที่ดินใหม่ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2555 ใกล้แล้วเสร็จเหลือเพียงจังหวัดสุรินทร์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ เบื้องต้นค่าเฉลี่ยราคาที่ดินทั้ง 30 ล้านแปลงทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น 20 % ส่วนค่าเฉลี่ยราคาที่ดินในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 17 % โดยจังหวัดที่มีการปรับราคาที่ดินสูงที่สุดได้แก่ จ.อุดรธานี ราคาเพิ่มขึ้น 51 % และ จ.ภูเก็ต ราคาเพิ่มขึ้น 49 %

     สำหรับพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ที่มีการปรับราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีนัยยะสำคัญที่ส่งผลให้ราคาประเมินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีการปรับราคาเฉลี่ย 50 % อาทิ เขตพระโขนง ปรับราคาขึ้น 39 % , เขตมีนบุรี 21.14 % , เขตหนองจอก 13.8 % ขณะที่เขตดอนเมืองและหลักสี่ ปรับราคาเพียง 2.1 % และเขตลาดพร้าวปรับราคาเพียง 0.67 %

     ขณะที่การปรับราคาที่ดินในต่างจังหวัดเช่น จ.อยุธยา ปรับราคาขึ้น 10.6 % , จ.ลพบุรี ปรับราคาขึ้น 2.2 % , จ.เชียงใหม่ ปรับราคาขึ้น 11% , จ.เชียงราย ปรับราคาขึ้น 4.3 % จ.ปทุมธานี ปรับเพิ่มขึ้น 5% และ จ.ขอนแก่นปรับราคาขึ้น 8.4 %

     "ตอนนี้เริ่มมีบางจังหวัดที่ทยอยประกาศราคาใหม่แล้ว ส่วนเรื่องน้ำท่วมถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ไม่ได้เกิดซ้ำซาก จึงไม่นำมารวมเป็นปัจจัยในการปรับราคาประเมินใหม่ ทั้งนี้คงต้องดูที่ความต้องการซื้อและขายที่จะเป็นตัวกำหนดราคาที่ดินในปีถัดไปด้วย " นายนริศกล่าว

 

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS