สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนพฤษภาคม 2556 ลดลงอยู่ที่ 43.5 และลดลงทุกกลุ่มธุรกิจ สาเหตุมาจากเข้าสู่ฤดูฝนและเปิดภาคเรียน ส่งผลให้การบริโภค การขนส่ง และท่องเที่ยวชะลอตัว โดยมีธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค้าปลึกน้ำมันและบริการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นทั้งภาพรวมและรายภูมิภาค เพราะผู้ประการเชื่อมั่นเศรษฐกิจจะดีขึ้น
สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนพฤษภาคม 2556 ลดลงอยู่ที่ 43.5 และลดลงทุกกลุ่มธุรกิจ สาเหตุมาจากเข้าสู่ฤดูฝนและเปิดภาคเรียน ส่งผลให้การบริโภค การขนส่ง และท่องเที่ยวชะลอตัว โดยมีธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค้าปลึกน้ำมันและบริการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นทั้งภาพรวมและรายภูมิภาค เพราะผู้ประการเชื่อมั่นเศรษฐกิจจะดีขึ้น
นายชาวันย์ สวัสดิ์ชู-โต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนพฤษภาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2556 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ลดลงอยู่ที่ 48.6 จากระดับ 52.8 (ลดลง 9.3) และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 48.9 43.0 และ 41.7 จากระดับ 50.0 51.0 และ 56.1 (ลดลง 1.1 8.0 และ 14.4) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 25.6 และ 35.6 จากระดับ 62.3 และ 58.8 (ลดลง 36.7 และ 23.2) ตามลำดับ
“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีในเดือนพฤษภาคม 2556 ลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนและเป็นช่วงการเปิดภาคเรียน ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทั้งในด้านการบริโภคโดยรวม การเดินทาง ขนส่ง รวมถึงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ถือเป็นช่วง Low Season โดยปัจจัยบั่นทอนเห็นได้จากการส่งออกในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงในทุกอุตสาหกรรมและทุกตลาดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 19,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่ค่าครองชีพของประชาชนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” นายชาวันย์ กล่าว
เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 47.4 จากระดับ 50.5 (ลดลง 3.1) เนื่องจากมีการเร่งการบริโภคไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ และเข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียน ประชาชนต้องใช้จ่ายในเรื่องค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การศึกษา ส่งผลให้สถานการณ์ด้านการบริโภคโดยรวมชะลอตัว เห็นได้จากดัชนีอุปโภคบริโภคในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงร้อย 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ภาคค้าปลีก กิจการค้าปลีกน้ำมัน ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 41.6 จากระดับ 57.3 (ลดลง 15.7) เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ขณะที่ระดับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร ส่งผลให้สถานการณ์ด้านการเดินทางชะลอตัวลง ภาคบริการ กิจการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลงมากที่สุด โดยบริการด้านการท่องเที่ยว ค่าดัชนีอยู่ที่ 36.0 จากระดับ 62.2 (ลดลง 26.2) โรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล ค่าดัชนีอยู่ที่ 38.9 จากระดับ 56.1 (ลดลง 17.2) และร้านอาหาร/ภัตตาคาร ค่าดัชนีอยู่ที่ 40.1 จากระดับ 56.1 (ลดลง 16.0) เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่งถือเป็นช่วง Low Season ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ส่งผลให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวชะลอตัวลง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.6 จากระดับ 41.2 (เพิ่มขึ้น 7.4) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยกิจการภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.3 48.4 และ 47.8 จากระดับ 48.3 40.1 และ 39.8 (เพิ่มขึ้น 3.0 8.3 และ 8.0) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.8 และ 45.6 จากระดับ 34.8 และ 27.5 (เพิ่มขึ้น 11.0 และ 18.1)
ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านการบริโภค การขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน รวมถึงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่จะกลับมาคึกคัก จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกมาจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 30.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น
ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2556 พบว่า ทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ 40.8 จากระดับ 58.7 (ลดลง 17.9) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 43.0 จากระดับ 54.3 (ลดลง 11.3) ภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 43.6 จากระดับ 51.7 (ลดลง 8.1) ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 47.0 จากระดับ 54.7 (ลดลง 7.7) และ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 42.5 จากระดับ 47.4 (เพิ่มขึ้น 4.9) ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค