SMEs อาการหนักเซ็นต์จ่ายเช็คเด้งเพียบ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาท รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาพบมีปริมาณเช็คเด้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถรับออเดอร์ได้ รวมถึงแรงซื้อของคนไทยที่ชะลอตัวช่วงต้นปีเนื่องจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น และอีกส่วนประชาชนประหยัดเพราะได้นำเงินไปซื้อรถตามโครงการนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล

 


นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาท รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาพบมีปริมาณเช็คเด้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถรับออเดอร์ได้ รวมถึงแรงซื้อของคนไทยที่ชะลอตัวช่วงต้นปีเนื่องจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น และอีกส่วนประชาชนประหยัดเพราะได้นำเงินไปซื้อรถตามโครงการนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล

“ที่ผ่านมาพบเช็คเด้งเพิ่มขึ้น 25% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอีคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจากนี้ไปจะมีปริมาณจะสูงขึ้นหรือไม่ เพราะแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอาจทำให้เอสเอ็มอีกลับมามีสภาพคล่องที่ดีขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่ดีนั่นหมายถึงโอกาสที่จะต้องปิดกิจการก็จะสูงขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่สามารถปรับตัวให้รอดได้” นายวัลลภกล่าว

นายวัลลภกล่าวว่า เพื่อความอยู่รอด ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องทบทวนธุรกิจของตัวเองใหม่ ไม่ควรหวังพึ่งนโยบายจากภาครัฐ เนื่องจากสัญญาณครึ่งปีหลัง ตลาดในประเทศยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้แรงซื้อคนไทยฟื้นตัว เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งได้ใช้จ่ายล่วงหน้าโดยเฉพาะรถคันแรก บ้านหลังแรก  ทำให้ยังมีภาระผ่อนต่อ ขณะเดียวกันราคาสินค้าที่ปรับขึ้นไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสปรับลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่วนกรณีการจำนำข้าวแม้ว่ารัฐบาลจะลดราคาจำนำลงมาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท มองอีกแง่อาจจะไม่กระทบต่อแรงซื้อหากข้าวสารมีการปรับราคาลงมา แต่นั่นหมายถึงรัฐจะต้องควบคุมได้ด้วย เพราะช่วงสินค้าเมื่อขึ้นไปแล้วยากที่จะปรับลง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า แรงซื้อที่ผ่านมาไม่ดีนัก โดยดูจากยอดค้าปลีก 5 เดือนแรกลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2% ซึ่งคาดว่าแรงซื้อปีนี้โตได้ 4.5% ก็เก่งแล้ว ซึ่งปีที่แล้วแรงซื้อขยายตัวสูงถึง 10% เพราะคนไทยเจอสินค้าราคาแพงช่วงที่ผ่านมาประกอบกับมีการรัดเข็มขัดจากคนที่ซื้อรถคันแรกผสมกันไป ขณะที่เศรษฐกิจโลกภาพรวมเองก็ยังไม่สู้ดีนัก ทั้งจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ทำให้ภาพครึ่งปีหลังจึงไม่มีเหตุผลที่แรงซื้อของคนไทยจะขยายตัวขึ้นได้เลย เว้นแต่รัฐจะเร่งการใช้งบประมาณให้มากขึ้น แต่กระนั้นดูแล้วโครงการต่างๆ ก็ยังไม่คืบ

ส่วนการลดราคาจำนำข้าวของรัฐบาลลงมาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท จากเดิมตันละ 1.5 หมื่นบาทนั้น หากมองในแง่เศรษฐกิจเท่ากับเงินในกระเป๋าชาวนาจะหายไปอีก เพราะแม้ว่าเดิมจะจำนำให้ตันละ 1.5 หมื่นบาท แต่ชาวนาก็ได้รับจริงเพียง 8,000 บาท ซึ่งหากลดจำนำลงก็เชื่อว่าจะทำให้เงินถึงมือชาวนาลดไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าแรงซื้อกลุ่มนี้ก็จะหายไปเช่นกัน.

NEWS & TRENDS