บีโอไอ ออกประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ หลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้ข้อสรุปร่วมกันเปิดไฟเขียวผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนโดยอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว พร้อมลดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือ 500,000 บาท และสนับสนุนลงทุน คลัสเตอร์อุตสาหกรรม หวังกระตุ้นผู้ประกอบการลงทุนใหม่-ขยายกิจการในพื้นที่ชายแดนใต้
บีโอไอ ออกประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ หลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้ข้อสรุปร่วมกันเปิดไฟเขียวผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนโดยอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว พร้อมลดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือ 500,000 บาท และสนับสนุนลงทุน คลัสเตอร์อุตสาหกรรม หวังกระตุ้นผู้ประกอบการลงทุนใหม่-ขยายกิจการในพื้นที่ชายแดนใต้
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานความคืบหน้าการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากได้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้พิจารณาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดบีโอไอได้หารือร่วมกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน รวมถึงภาคเอกชนทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้าและการเงิน เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม พบว่าทุกฝ่ายเห็นชอบให้ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสูงสุดตามข้อเสนอของบีโอไอ
ทั้งนี้ ได้กำหนดขอบเขตของพื้นที่ตามมาตรการดังกล่าว ให้ครอบคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล รวมถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นพิเศษในกรณีต่างๆ ได้แก่ ลดมูลค่าเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนจากเกณฑ์ปกติที่ต้องลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท เหลือลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท การอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมได้มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยจะต้องลงทุนในเครื่องจักรใหม่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าเครื่องจักรใช้แล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ปกติจะไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด โดยสามารถนำโครงการเก่ามาขอรับการส่งเสริมโดยลงทุนเพิ่มบางส่วน
สำหรับกิจการที่สามารถรวมกลุ่มลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรเป็นพิเศษเช่นเดียวกับการตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติมจากรูปแบบนิคมและเขตอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้รับอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับส่งเสริม เช่นเดียวกับกิจการในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คณะกรรมการกำหนด โดยบีโอไอจะพิจารณาอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับส่งเสริมเป็นราย ๆ ไป แตกต่างจากหลักเกณฑ์ปกติที่อนุญาตให้โครงการลงทุนที่ได้รับส่งเสริมใช้แรงงานต่างชาติเฉพาะที่เป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเท่านั้น
“แนวทางการพัฒนาและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว บีโอไอได้ออกประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้ปรับปรุงใหม่แล้ว โดยจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจในมาตรการดูแลพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้นในอนาคต” นายประเสริฐ กล่าว
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า มาตรการข้างต้น เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากเดิมที่บีโอไอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมาตรการเดิมที่จะใช้ควบคู่กับมาตรการใหม่ ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ มาตรการทั่วไปสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่จำกัดเวลายื่นคำขอรับการส่งเสริม จะเปิดกว้างให้กิจการทุกประเภทในบัญชีที่เปิดให้การส่งเสริมได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของอัตราปกติ 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
ส่วนอีก 2 มาตรการ คือ มาตรการพิเศษสำหรับชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้ประกอบการรายเดิมไม่ว่าจะลงทุนในพื้นที่ใดของประเทศ หากยื่นขอรับส่งเสริมใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำหนดตามประกาศ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ โดยโครงการเดิมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ส่วนโครงการใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด และมาตรการส่งเสริมการลงทุนนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการที่ตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจและยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557
จากสถิติของบีโอไอ พบว่า ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 2555 มีการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 19 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,861 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ