ศศินทร์เผยตลาดมุสลิมในอาเซียนเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย แนะธุรกิจอาหารฮาลาลเร่งพัฒนาคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเพื่อเตรียมความพร้อมแข่งขันในตลาด AEC และตลาดโลก มั่นใจมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซียเนื้อหอมหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ศศินทร์เผยตลาดมุสลิมในอาเซียนเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย แนะธุรกิจอาหารฮาลาลเร่งพัฒนาคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเพื่อเตรียมความพร้อมแข่งขันในตลาด AEC และตลาดโลก มั่นใจมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซียเนื้อหอมหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารสร้างรายได้ให้กับประเทศนับหมื่นล้านบาท เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบหลายอย่างทำให้สามารถผลิตอาหารได้หลากหลาย ทั้งอาหารประเภทผัก ผลไม้สด อาหารแช่แข็ง และอาหารแปรรูป ซึ่งได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาคธุรกิจต่างๆต้องเร่งพัฒนาทุกด้านเพื่อสร้างความได้เปรียบคู่แข่ง และคาดว่าธุรกิจสินค้าฮาลาลจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านที่บริโภคสินค้าดังกล่าวมีจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก รวมทั้งมาเลเซียและบรูไน และยังมีผู้บริโภคชาวมุสลิมในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดฮาลาลที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการจากไทยเท่านั้น ที่ต้องการขยายตลาดสินค้าฮาลาล เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ก็มีการขยายตลาดดังกล่าวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ประเทศมาเลเซียมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเป็นโกบอลฮาลาล ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน แม้ว่าที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวมุสลิมในภูมิภาคอาเซียนจะไว้วางใจสินค้าฮาลาลจากประเทศไทย ที่ผ่านการรับรองและตรวจสอบจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าฮาลาลควรสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดอาซียนและตลาดโลกได้
ดร.กฤษติกา เปิดเผยเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวมุสลิม ทั้งมาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีสัญลักษณ์ฮาลาล และส่วนใหญ่ชื่นชอบสินค้าจากไทยเช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียน เนื่องจาก คุณภาพน่าเชื่อถือ ราคาไม่แพง และดีไซน์ที่แตกต่าง จึงเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าดังกล่าว แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปมาเลเซียซึ่งมีอุปกรณ์ในการตรวจสอบสินค้าฮาลาลอย่างเข้มงวด ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องได้มาตรฐานไม่สามารถปลอมแปลงได้ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียเป็นตลาดสินค้าฮาลาลที่สำคัญ มีประชากรเป็นมุสลิมมากกว่า 60% ผู้บริโภคนิยมสินค้าฮาลาลจากไทย และอาหารไทยที่มีความใกล้เคียงกับอาหารพื้นเมืองของมาเลเซีย ผู้ประกอบการที่ต้องการบุกตลาดฮาลาลไม่จำเป็นต้องไปถึงยุโรปและตะวันออกลาง เพราะการลงทุนในตลาดอาเซียนมีต้นทุนขนส่งถูกกว่า
นอกจากการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพธุรกิจไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเปิดประตูอาเซียนแล้ว ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละประเทศด้วย เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ประชาชนส่วนใหญ่ชอบรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารในประเทศดังกล่าวค่อนข้างประสบความสำเร็จ รวมทั้งพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในมาเลเซียที่มีความอ่อนไหวเรื่องราคา หากมีการปรับราคาจากที่เคยซื้อจะกระทบต่อการตัดสินใจทันที ดังนั้น ผู้ประกอบการควรลดต้นทุนแทนการขึ้นราคา ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอาหารฮาลาลเท่านั้นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมลูกค้า แต่ควรศึกษาข้อมูลการบริโภคกลุ่มเป้าหมายชาติอื่นๆ เช่นเดียวกัน เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดทั้งในอาเซียนและตลาดโลก