อุตฯร่วม 8 แบงก์อุ้ม SMEs อ่วมพิษค่าแรง

สสว. ชูมาตรการช่วยเหลือ SMEs จัดโครงการสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ SMEs เพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตรา 300 บาทต่อวัน อัดฉีดเงินชดเชยดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงิน 193 ล้านบาท เชื่อมั่นเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่น้อยกว่า 6,300 ราย

 


สสว. ชูมาตรการช่วยเหลือ SMEs จัดโครงการสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ SMEs เพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตรา 300 บาทต่อวัน อัดฉีดเงินชดเชยดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงิน 193 ล้านบาท เชื่อมั่นเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่น้อยกว่า 6,300 ราย 

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานแถลงข่าวโครงการสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ SMEs เพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตรา 300 บาทต่อวัน ว่า โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมาตรการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ส่งผลให้แรงงานได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 30 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมด ช่วยให้แรงงานมีรายได้และฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยลดช่องว่างค่าจ้างแรงงานที่เหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดความสมดุลและสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน  

“ด้านผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ ที่ใช้แรงงานเข้มข้นและแรงงานทั่วไปเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงมากกว่าร้อยละ 20 และมีการจ้างงานในสถานประกอบการ SMEs รวมของแต่ละจังหวัดมากกว่า 100,000 คนขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการได้เองทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภาพ การส่งเสริมการตลาด และการสนับสนุนด้านการเงิน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ โครงการคลีนิคอุตสาหกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ ให้แก่ SMEs ภาคการผลิต / มาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุน (BOI) / การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบริการรายปี ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 แล้ว  

โครงการสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ SMEs เพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตรา 300 บาทต่อวัน โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นับเป็นอีก 1 มาตรการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 3 ของวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลา 1 ปี วงเงินกู้ยืมไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปภายในระยะเวลา 1 ปี 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะดำเนินการผ่านสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 8 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีวงเงินงบประมาณดำเนินการจำนวน 193 ล้านบาท  คาดว่าจะมีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 6,300 ราย  
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายหลักภายใต้โครงการดังกล่าว คือกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น ทั้งในภาคการผลิต ภาคค้าปลีก-ค้าส่ง และภาคบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ รวม 51 จังหวัด จำนวน 12 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ กลุ่มธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหาร  กลุ่มธุรกิจผลิตไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ และไม้ก๊อก กลุ่มธุรกิจการก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มธุรกิจการขายปลีก กลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่พักชั่วคราว กลุ่มธุรกิจการขนส่ง กลุ่มธุรกิจบำรุงรักษา ซ่อมแซมยานยนต์ และจักรยานยนต์ การขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ และ กลุ่มธุรกิจการผลิตเครื่องเรือน รวมถึงธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และอัญมณีเครื่องประดับ

“เชื่อว่าโครงการสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ SMEs เพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตรา 300 บาทต่อวัน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สสว. และสถาบันการเงิน จะช่วยสร้างโอกาส ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการสามารถ บริหารจัดการต้นทุนในการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาสภาพการจ้างงานให้แก่ SMEs ในภาคการผลิต ค้าปลีก-ค้าส่ง บริการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจ สามารถสมัครเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 นี้” นายวิฑูรย์ กล่าว

 

NEWS & TRENDS