หน่วยงานรัฐร่วมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 6 แห่ง สนับสนุนสินเชื่อให้เอสเอ็มอีและผลิตภัณฑ์โอท็อป 1.6 แสนล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ด้านออมสินตั้งเป้าปล่อยกู้หมื่นล้าน เน้นโอท็อปกลางน้ำ 3-4 ดาว
หน่วยงานรัฐร่วมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 6 แห่ง สนับสนุนสินเชื่อให้เอสเอ็มอีและผลิตภัณฑ์โอท็อป 1.6 แสนล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ด้านออมสินตั้งเป้าปล่อยกู้หมื่นล้าน เน้นโอท็อปกลางน้ำ 3-4 ดาว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 6 แห่ง ภายใต้โครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและ หน่วยงานภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ให้มีความเข้าใจและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยในโครงการนี้จะมีสินเชื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2556-2558 ในวงเงิน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ที่จะหาลูกค้าใหม่ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินให้กับผู้ประกอบการ
"เป็นอีกขั้นของการผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโอ ท็อปและวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนเงินกู้ในรูปแบบของ ?คลินิกทางการเงิน? ที่พร้อมจะให้คำปรึกษาทางการเงิน รวมถึงการให้ความรู้ การสร้างโอกาสทางธุรกิจ หลังจากที่ดำเนินการในครั้งแรก มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานสัมมนาจำนวน 527 ราย จาก 336 บริษัท โดยมีผู้สนใจยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง จำนวน 110 ราย เป็นวงเงินประมาณ 500 ล้านบาท" นายกิตติรัตน์กล่าว
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มระดับกลางให้ขยายธุรกิจวงเงิน ประมาณ 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ประมาณ 100,000-2,000,000 บาทต่อราย ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปล่อยกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) บวกลบ 1 ตามวาระตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนในการขยายธุรกิจ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปในกลุ่มกลางน้ำ ระดับ 3-4 ดาว สามารถพัฒนาสินค้า ความรู้ในการทำตลาด และเพิ่มมูลค่าสินค้า ให้สามารถขยับขึ้นไปในระดับ 5 ดาว
สำหรับการปล่อยกู้ให้กับโครงการ บริหารจัดการน้ำของรัฐบาล 3.5 แสนล้านบาท นายวรวิทย์กล่าวว่า รัฐบาลได้เปิดประมูลการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท โดยในปีแรกเตรียมปล่อยกู้ให้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของสินเชื่อใหม่ต่อปีของธนาคาร จึงนับว่าเป็นยอดเงินที่ไม่สูงมากนัก และการเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการรัฐ แม้จะให้ผลตอบแทนน้อยเพียง 3-4% แต่เป็นโครงการเงินกู้ที่มีความเสี่ยงน้อย ส่วนการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการธนาคารจะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้ โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งสภาพคล่อง ทิศทางอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูว่าจะพิจารณาลดลงได้หรือไม่