โวยรัฐช่วยไม่จริง SMEs หมดทางจำใจกู้นอกระบบ

ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจพบผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ยังไม่ฟื้นจากพิษค่าแรง 300 บาท ขณะที่ค่าเงินผสมโรง กระทบการส่งออก บางบริษัทต้องหันไปพึ่งเงินด่วน พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเป็นผู้ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

 


ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจพบผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ยังไม่ฟื้นจากพิษค่าแรง 300 บาท ขณะที่ค่าเงินผสมโรง กระทบการส่งออก บางบริษัทต้องหันไปพึ่งเงินด่วน พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเป็นผู้ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SME) ทราบว่าประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาททั่วประเทศ ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการยังทราบว่า แม้รัฐบาลจะมีการเสนอมาตรการต่างๆแต่ก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย ส่วนใหญ่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมรายใหญ่เป็นหลัก ดังนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่งตนเองในการปรับตัวเป็นหลัก

“หลายรายหันไปกู้เงินด่วนที่ติดโฆษณาตามเสาไฟฟ้า ป้ายรถเมล์และตู้โทรศัพท์ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนเร่งด่วน 1-2 วัน เนื่องจากได้เงินเร็วภายใน 1-2 ชม.และที่สำคัญเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้”นายเกียรติอนันต์ กล่าว

ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเป็นผู้ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบส่วนหนึ่ง เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแต่ส่วนใหญ่มีไม่เพียงพอตามที่สถาบันการเงินกำหนด แต่หากจะไปพึ่งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ไม่สามารถที่จะถึงตรงนั้นได้

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากถูกบริษัทรายใหญ่แย่งแรงงานในระดับฝีมือ โดยการจูงใจในการให้ค่าจ้างทั้งเงินเดือน เงินโบนัส และผลตอบแทนอื่นๆที่สูงกว่า ส่งผลให้แรงงานที่มีศักยภาพย้ายไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆจำนวนมาก ส่วนแรงงานที่ยังตกงานอยู่อีกจำนวนมากนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประเมินแล้วว่าเป็นแรงงานศักยภาพต่ำ หรือจบการศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของบริษัท

          อย่างไรก็ดีแม้ว่า เงินบาทแข็งจะกระทบการส่งออก แต่ผลดีก็คือช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าเครื่องจักร โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักรจากไต้หวัน และ จีน แล้วนำมาตกแต่งประสิทธิภาพ เนื่องจากมีราคาถูก

นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กำลังสำรวจเชิงลึกผลกระทบของเอสเอ็มที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ว่าเป็นอย่างไรบ้างนอกเหนือจากปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องหลังจากที่เอสเอ็มอีปรับราคาสินค้าตามต้นทุนได้ลำบาก เพราะหากปรับราคามากๆ เอสเอ็มอีก็ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผู้บริโภคจะหันไปซื้อสินค้าที่ถูกกว่า ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่จะได้เปรียบเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุนมากกว่าขนาดเล็ก

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เคยให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3,000 ราย ได้ขอความช่วยเหลือจากกรม ให้แก้ปัญหาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง โดยเนื่องจากหลายรายเริ่มขาดสภาพคล่องจากการทำธุรกิจ เบื้องต้นกรม จะให้ความรู้ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน หาช่องการตลาด รวมถึงร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อให้วงเงินช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินรวม 7,500 ล้านบาท

 

NEWS & TRENDS