กสอ.เตรียมของบเฟส 2 ช่วยเอสเอ็มอีเดือดร้อน

กสอ.เล็งของบช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากผลกระทบปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเฟส 2 วงเงิน 7.5 พันล้านบาท ยอมรับมีผู้ประกอบการลงชื่อรับความช่วยเหลือน้อยมาก พร้อมติวประกันความเสี่ยงเอสเอ็มอีส่งออกทั่วปท.รับมือค่าบาท

 


กสอ.เล็งของบช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากผลกระทบปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเฟส 2 วงเงิน 7.5 พันล้านบาท ยอมรับมีผู้ประกอบการลงชื่อรับความช่วยเหลือน้อยมาก พร้อมติวประกันความเสี่ยงเอสเอ็มอีส่งออกทั่วปท.รับมือค่าบาท

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ขณะนี้กสอ.อยู่ระหว่างทำข้อมูลขออนุมัติวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบ 300 บาทเฟส 2 วงเงิน 7,500 ล้านบาทต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเบื้องต้นมีเอสเอ็มอีลงชื่อเข้ามาแล้วหลายร้อยราย หลังจากเฟสแรก 7,500 ล้านบาท กสอ.ได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ลงชื่อแล้วจำนวน 3,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเอสเอ็มอีอยู่ที่ 2.6 แสนราย โดยกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่มีจำนวน 6 พันราย ที่เหลือกว่า 90% เป็นรายเล็กทั้งสิ้นและไม่สามารถปรับตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลและค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ทั้งนี้ ยอมรับว่าเอสเอ็มอีลงชื่อน้อย ทำให้คาดการณ์ผลกระทบใน 2 ลักษณะ คือ ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ซึ่งเชื่อว่ามีการปรับตัวทันจึงได้รับผลกระทบน้อบ และอีกกลุ่มคือไม่ทราบข้อมูล ดังนั้นจะรอดูผลการลงชื่อสินเชื่อเฟส 2 ว่าจะมีเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายมาณพ ชิวธนาสุนทร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)เปิดเผยว่า กสอ.ได้สำรวจผลกระทบผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะภาคส่งออกพบว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินล่วงหน้า รวมทั้งไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต เป็นต้น

ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกสอ.จะหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ เพื่อจัดทำโครงการให้ความรู้เอสเอ็มอีทั่วประเทศในการรับมือกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีความผันผวน โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการทำประกันความเสี่ยง ซึ่งตรงกับความต้องการของเอสเอ็มอีที่ร้องเรียนมายังภาครัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะทำดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และสิ้นสุดภายในเดือนสิงหาคม 2556

อย่างไรก็ตาม กสอ.จะเน้นให้ความรู้เรื่องการบริหารต้นทุนการผลิตที่แบ่งเป็นค่าวัตถุดิบ 50% ค่าแรง 10-20% ค่าโลจิสติกส์ 10% ค่าพลังงาน 10% และค่าใช้จ่ายอื่น อาทิ การทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน 10% ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละส่วนมีความสำคัญหากไม่สามารถควบคุมให้อยู่ระดับดังกล่าวจะทำให้กำไรต่อชิ้นลดลงและกลายเป็นผลกระทบต่อเนื่อง

“โครงการดังกล่าวจะจัดทำทั่วประเทศ กำหนดจำนวนเอสเอ็มอีเป้าหมายที่เป็นผู้ส่งออกรวม 5,000 ราย งบประมาณรวม 5 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่จะเข้าร่วมการอบรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร พลาสติก แก้ว ชิ้นส่วน เป็นต้น”

สำหรับภาพรวมการประกอบกิจการของเอสเอ็มอีพบว่ามีปัจจัยลบ 3 ด้าน คือ 1.ตลาดส่งออกยังไม่ฟื้นตัวนัก ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น 2.ความสามารถในการผลิตที่ต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าแรง เงินบาท และ3.ความสามารถในการทำตลาดที่ตลาดอาเซียนเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการ ต้องฝึกภาษา และรวมกลุ่มในการออกไปทำประกอบกิจการ โดยตลาดในอาเซียนที่น่าสนใจที่สุด คือ กลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิภาษี (จีเอสพี) อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา
 

NEWS & TRENDS