กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน เม.ย-พ.ค. นักธุรกิจ 81.6% ระบุได้รับผลกระทบจากการแข็งตัวของค่าเงินบาท และเริ่มส่งผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจของไทย
กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน เม.ย-พ.ค. นักธุรกิจ 81.6% ระบุได้รับผลกระทบจากการแข็งตัวของค่าเงินบาท และเริ่มส่งผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจของไทย
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม สำรวจความเห็นผู้บริหารบริษัทจำนวน 409 ท่าน ในระหว่างวันที่ 29 เมษายน ถึง 12 พฤษภาคม 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการแข็งค่าของเงินบาท
โดยการแข็งค่าของเงินบาทนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจส่วนใหญ่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหาร 15.4% ระบุว่า ได้รับผลกระทบสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผู้บริหาร 43.5% ระบุว่า กระทบใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ 22.7% ระบุว่า น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีผู้บริหาร 18.4% ที่ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทคิดเป็น 81.6% ของธุรกิจทั้งหมดที่สำรวจ
สำหรับแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่านั้น 42.3% ระบุว่า ใช้การหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับการหาตลาดใหม่ในประเทศที่ระดับ 41.1% วิธีการลดต้นทุนในการผลิต/การทำธุรกิจ 35.4% ลดงบประมาณด้านการลงทุนระยะยาว 32.7% จ่ายงานออกไป (Outsource) 25.7% ลดขั้นตอนในการทำธุรกิจ 24.6% เพิ่มกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย 22.2% และอีก 14.8% เป็นวิธีการอื่นๆ เช่น ลดขนาดกิจการ หาผู้ร่วมทุนเพิ่ม นำเครื่องจักรอุปกรณ์มาใช้แทนแรงงานให้มากขึ้น เป็นต้น
ขณะเดียวกันจากการสำรวจ ปัจจัยสำคัญ 5 อันดับแรกที่มีผลต่อการทำธุรกิจในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พบว่า ต้นทุนวัตถุดิบได้ 3.8 คะแนน ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทได้ 3.5 คะแนน ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นได้ 3.4 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ 3.4 คะแนน และความต้องการของตลาดที่ลดลงได้ 3.3 คะแนน