บีโอไอเลื่อนบังคับใช้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุนไปปี 58

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวเลื่อนบังคับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่มีผล 1 ม.ค.58 อ้างให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัว ยืนยันยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แบบโซนนิ่งมาเป็นแบบคลัสเตอร์ ปลื้มมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริม 4 เดือนแรก พุ่งทะลุ 5 แสนล้านบาท พร้อมอนุมัติ 11 โครงการใหญ่ ลงทุนรวมกว่า 5.4873 หมื่นล้านบาท

 


บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวเลื่อนบังคับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่มีผล 1 ม.ค.58 อ้างให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัว ยืนยันยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แบบโซนนิ่งมาเป็นแบบคลัสเตอร์ ปลื้มมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริม 4 เดือนแรก พุ่งทะลุ 5 แสนล้านบาท พร้อมอนุมัติ 11 โครงการใหญ่ ลงทุนรวมกว่า 5.4873 หมื่นล้านบาท

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดระยะเวลาในการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างความชัดเจนและความโปร่งใสในการดำเนินงานให้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีเวลาในการปรับตัวและวางแผนการดำเนินธุรกิจ จึงได้เลื่อนการใช้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ออกไป โดยเสนอให้บอร์ดบีโอไอพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ใหม่เบื้องต้น บีโอไอ มีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน โดยเน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน 3. กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 4. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม 5. กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม  6. กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง 7. อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร 8. อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness 9. อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ 10. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังจะมีการปรับเปลี่ยนการส่งเสริมตามเขตพื้น มาเป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. สิทธิประโยชน์พื้นฐาน และ 2.สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ ซึ่งเป็นส่วนที่บีโอไอต้องการเน้นส่งเสริมให้โครงการลงทุนได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

"บอร์ดได้ย้ำให้บีโอไอไปทำแผนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยระบุให้ชัดว่าโครงการไหนที่บีโอไอจะไม่เน้นส่งเสริมแล้วเน้นส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายไหนบ้าง ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายที่จะลดการสนับสนุนคืออุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจมีความสามารถอยู่แล้ว ใช้แรงงานมาก เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ และก่อสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน เป็นต้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอจะสนับสนุนนั้น จะต้องเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมบริการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโลจิสติกส์ สุขภาพ มีโรงงานสะอาด ท่าอากาศยาน และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เป็นต้น"

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า สำหรับภาวะการลงทุน 4 เดือนแรกปี 2556 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 747 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 5.1 แสนล้านบาท มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น  26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 593 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2555 ซึ่งมีมูลค่า 2.83 แสนล้านบาท ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมส่วนใหญ่ 54% เป็นการขยายการลงทุนของโครงการเดิมที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว และมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท

ล่าสุดที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 11 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 5.4873 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมที่มีจำนวนมากนั้น ทำให้คณะกรรมการมีความกังวลในเรื่องของการแข่งขันสูงขึ้น โดยที่ประชุมมอบหมายให้บีโอไอดำเนินการศึกษา คือ ข้อกฎหมายโดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ที่จะต้องมีการแก้ไข ทั้งการส่งเสริมการลงทุนในประเทศและนอกประเทศ โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนจะปรับแก้ไข โดยจะต้องมีการยืดหยุ่นเพื่อให้แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว จะต้องมีการตกลงกับกระทรวงการคลัง โดยบางเรื่องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด อย่างเช่นการออกมาตรการทั่วไป อาทิ ในเรื่องของภาษีหรือสินเชื่อต่างๆ หรืออาจเป็นธนาคารของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเติมเงินเข้าระบบ หรือ ระบบการหักค่าใช้จ่าย หรือมาตรการของศุลกากร ซึ่งหากกฎหมายกำหนดโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการก็จะดีกับ บีโอไอ ที่ไม่ต้องวุ่นวายในเรื่องข้อกฎหมายนี้ 
 

NEWS & TRENDS