นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 16 พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คช็อป) เพื่อระดมความคิดเห็นในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้สามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า และขอรับทราบปัญหาที่ SMEs ต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ รวมถึงจะมีการชี้แจงแผนงานและมาตรการในการผลักดันการส่งออกที่จะนำมาใช้ในการช่วยเหลือ SMEs ให้ส่งออกได้
นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 16 พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คช็อป) เพื่อระดมความคิดเห็นในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้สามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า และขอรับทราบปัญหาที่ SMEs ต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ รวมถึงจะมีการชี้แจงแผนงานและมาตรการในการผลักดันการส่งออกที่จะนำมาใช้ในการช่วยเหลือ SMEs ให้ส่งออกได้
ทั้งนี้ ในเรื่องการรับมือกับเงินบาทแข็งค่า กระทรวงฯ ได้เชิญผู้แทนจากสถาบันการเงิน ผู้แทนจากภาคเอกชนทั้งจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และตัวแทน SMEs เป็นรายอุตสาหกรรม มาให้ข้อมูลและแนวทางรับมือแก่ SMEs ว่าควรจะปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์ที่เงินบาทมีความผันผวนเช่นนี้
“จะบอกสถานการณ์เงินบาทให้ SMEs เข้าใจ จะได้เตรียมรับมือได้ โดยให้ผู้มีประสบการณ์มาช่วยชี้แจง ขณะที่กระทรวงฯ จะบอกถึงแผนงานต่างๆ ที่มีอยู่ในการสนับสนุน SMEs ให้สามารถส่งออกได้ ซึ่งปัจจุบัน มีโครงการ SMEs Proactive ที่มีเงินสนับสนุนปีละ 100 ล้าน 3 ปี รวม 300 ล้านบาท ที่จะช่วย SMEs ไปหาตลาดทั้งการเจาะตลาดแบบเคาะประตูบ้าน การโรดโชว์ การช่วยค่าใช้จ่ายในการออกงานแฟร์” นางวัชรี กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงฯ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังมีแผนที่จะจัดทำโครงการพี่เลี้ยงผู้ประกอบการนักธุรกิจไทย เช่น การเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาให้คำแนะนำแก่ SMEs ที่เริ่มต้นทำธุรกิจ หรือรายที่ประสบปัญหาในการทำธุรกิจ การช่วยพัฒนา SMEs ให้มีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งการบริหารต้นทุน อัตราแลกเปลี่ยน ระบบโลจิสติกส์ ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะช่วยดูแลและเฝ้าระวังในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า และแจ้งเตือนเพื่อให้รับมือได้ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเวิร์คช็อปครั้งนี้ กระทรวงฯ ยังจะได้ชี้แจงแผนงานและแนวทางในการทำตลาดให้กับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตสินค้า OTOP มีสถานที่จำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก โดยในประเทศได้ประสานห้างค้าปลีกรายใหญ่ให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า ขณะที่การส่งออกจะสนับสนุนในการทำตลาดเหมือนกับผู้ประกอบการ SMEs รายอื่นๆ เพื่อให้มีการส่งออกได้มากขึ้น