ศูนย์ฯกสิกรไทยชี้ SMEs ต้องเจอแรงกดดันต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 นับเป็นวันเฉลิมฉลองวันแรงงานแห่งชาติปีแรกที่แรงงานในประเทศไทยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาอยู่ในอัตราเท่ากันที่ 300 บาทต่อวันทั่วทั้งประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจากการปรับนำร่องใน 7 จังหวัดไปแล้วก่อนหน้านั้น ซึ่งสำหรับลูกจ้างผู้ใช้แรงงานแล้วย่อมเป็นการยกระดับมาตรฐานรายได้ให้สอดรับมากขึ้นต่อค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างแรงงานอย่างก้าวกระโดดนี้ ในแง่หนึ่งก็อาจส่งผลกระทบบางด้านตามมา เช่น ผู้ประกอบการไทยย่อมมีต้นทุนแรงงานสูงขึ้น และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของสินค้าบางกลุ่มได้ ขณะเดียวกันก็อาจมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติในการเลือกประเทศเป้าหมายการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังต้องการอาศัยประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำ

 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 นับเป็นวันเฉลิมฉลองวันแรงงานแห่งชาติปีแรกที่แรงงานในประเทศไทยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาอยู่ในอัตราเท่ากันที่ 300 บาทต่อวันทั่วทั้งประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจากการปรับนำร่องใน 7 จังหวัดไปแล้วก่อนหน้านั้น ซึ่งสำหรับลูกจ้างผู้ใช้แรงงานแล้วย่อมเป็นการยกระดับมาตรฐานรายได้ให้สอดรับมากขึ้นต่อค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างแรงงานอย่างก้าวกระโดดนี้ ในแง่หนึ่งก็อาจส่งผลกระทบบางด้านตามมา เช่น ผู้ประกอบการไทยย่อมมีต้นทุนแรงงานสูงขึ้น และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของสินค้าบางกลุ่มได้ ขณะเดียวกันก็อาจมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติในการเลือกประเทศเป้าหมายการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังต้องการอาศัยประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำ

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่ปรากฏให้เห็นถึงผลกระทบในทางลบอย่างชัดเจนนัก เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงานในหลายๆ สาขาการผลิต/บริการ ยังช่วยดูดซับกำลังแรงงานใหม่ และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไว้ได้บ้างบางส่วน

กระนั้น ผลของกระบวนการปรับตัวของธุรกิจอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นผลกระทบที่แท้จริง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ธุรกิจเผชิญแรงบีบคั้นอื่นๆ อีกหลายด้าน โดยในระยะสั้น ความซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้า ความผันผวนของค่าเงินบาท และแรงกดดันด้านต้นทุน อาจทำให้ผู้ประกอบการในหลายๆ อุตสาหกรรม (โดยเฉพาะ SMEs ในภาคการส่งออก) ยังคงต้องรับมือกับแนวโน้มที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นในระยะข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการว่างงานของไทยในปี 2556 ยังคงมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7-0.9) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2555

สำหรับในระยะต่อไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ภาคแรงงานไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยแรงงานคงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ควรต้องอบรม/ฝึกฝนบุคลากรของตนให้มีทักษะความชำนาญเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ภาครัฐบาลก็คงต้องดำเนินบทบาทในการยกระดับปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อคุณภาพแรงงาน กำหนดทิศทางการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและทิศทางการพัฒนาประเทศ ลดการพึ่งพาแรงงานทักษะระดับล่าง แก้ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงานในตลาด ตลอดจนเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะผู้ใช้แรงงานเพื่อยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ รวมทั้งต้องพัฒนาแนวทางการคุ้มครองและสวัสดิการแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากลและมีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ภาคแรงงานไทยมีความแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ต่อไป

NEWS & TRENDS