นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป บสย.เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มียอดค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคบริการและการเกษตร
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป บสย.เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มียอดค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคบริการและการเกษตร
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการค้ำประกันสินเชื่อน่าจะสูงในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ซึ่งเป็นภาวะตามฤดูกาลที่ผู้ประกอบการจะขอสินเชื่อ และธนาคารจะปล่อยสินเชื่อในช่วงนั้นกันมาก
นายวิเชษฐกล่าวด้วยว่า ยอดค้ำประกันในไตรมาสแรกอยู่ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 5 วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเปิดให้ขออนุมัติค้ำประกันได้ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 ส่วนใหญ่เป็นยอดค้ำจากธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
"ไตรมาส 3 กับ 4 จะมากกว่าไตรมาส 1 ประมาณ 20% โดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นช่วงเวลาการทำสินเชื่อตามปกติ อย่างไรก็ดี ยอดค้ำประกันปีนี้น่าจะได้ตามเป้าที่ บสย.ตั้งไว้ว่าทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเต็มวงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ภายในไม่ถึง 3 ปี ซึ่งก็กลัวว่าจะไม่พอ แต่ถ้าเต็มแล้ว ก็ต้องขึ้นกับนโยบายรัฐว่าจะทำต่อหรือไม่" นายวิเชษฐกล่าว
โดยใน 3 ไตรมาสที่เหลือ บสย.จะรุกค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) และผู้ประกอบการรายย่อย ๆ ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะใช้วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แบบเจาะรายสาขาเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเมินว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีต่างจังหวัดน่าจะขยายตัวมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้