โนบิทเทอร์ ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ พัฒนา “ฟาร์มนวัตกรรม” ยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลก

     โนบิทเทอร์ ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จุฬาฯ  ลาดกระบัง และปัญญาภิวัฒน์ ผนึกความร่วมมือ เดินหน้าพัฒนางานวิจัยเกษตรนวัตกรรมเพื่อยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลกโดยมุ่งเน้นผลผลิตจากเทคโนโลยี “ฟาร์มแนวตั้ง” (Vertical Farming) ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตและความยั่งยืนภายใต้แนวคิดการเกษตรแบบควบคุมสภาพแวดล้อม แก้ไขปัญหาความท้าทายทางการเกษตรในยุคที่สภาพอากาศแปรปรวนและสร้างระบบนิเวศการเกษตรที่ยั่งยืน เฟสต่อไปเตรียมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ IoT. AI และ Big Dataประยุกต์ใช้ สร้างแพลตฟอร์มการเกษตรแบบแม่นยำ และพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรแบบ Plant Factory ที่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ไปพร้อมกับการสร้างคนเกษตรพันธ์ใหม่ รู้จักใช้เทคโนโลยียกระดับการเกษตรไทย นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งในระดับประเทศและตลาดโลก

     ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนบิทเทอร์ จำกัด (noBitter) ผู้บุกเบิกนวัตกรรมการเกษตรแนวตั้งเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย  ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farming) ซึ่งจะยกระดับการเกษตรไทยไปสู่เวทีโลก  ระบบฟาร์มแนวตั้งนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและคุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ตลาดทั้งในประเทศและทั่วโลก

     โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farmer)สำหรับนิสิตและนักศึกษา เพื่อพัฒนานวัตกรเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยการใช้วัสดุและทรัพยากรท้องถิ่นในระบบฟาร์มแนวตั้ง นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรในประเทศยังช่วยลดการนำเข้าอาหารและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว พร้อมยกระดับความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ

     “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการปฏิวัติวงการเกษตรไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างมั่นคง ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ พร้อมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเกษตรอย่างยั่งยืน” ดร.วิลาสกล่าว ทิ้งท้าย

     ทั้งนี้ โครงการนี้ยังเป็นการเน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางอาหารของโลก ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในประเทศและตลาดโลก เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในภาคเกษตร ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่และใน เฟสต่อไปเตรียมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ IoT. AI และ Big Dataประยุกต์ใช้ พร้อมนำประเทศสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     ศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า ความร่วมมือกับโนบิทเทอร์ ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตพืชในโรงเรือนและการใช้ฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์ในการควบคุมสิ่งแวดล้อม ผลงานที่ได้จะช่วยยกระดับคุณภาพอาหารและสุขภาพของผู้บริโภคนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบัน โครงการนี้มุ่งเตรียมความพร้อมให้นิสิตได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ช่วยขยายมุมมองการเรียนรู้ในห้องเรียนให้กว้างขวางขึ้น แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตในการพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการพัฒนานโยบายและแนวทางด้านพฤกษศาสตร์ระดับชาติในอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

     มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะเกษตรนวัตและการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Plant Factory และเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาในการพัฒนานวัตกรรมเกษตรในอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพทางการตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ซึ่งประเทศไทยในปี 2566 มีสมุนไพรส่งออก มูลค่าสูงถึง 56 พันล้านบาท ผลของการสร้างรายได้มหภาคสำหรับมูลค่าการส่งออกปี 2566 พืชสมุนไพร มีมูลค่า 483 ล้านบาท และสารสกัดสมุนไพร มีมูลค่า 382 ล้านบาทและยังช่วยในมิติของสิ่งแวดล้อม โดยระบบ Plant Factory ที่มีประสิทธิภาพสูงช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน  ช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย พร้อมสร้างศักยภาพให้เกษตรกรแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเป้าหมายของสถาบันฯ คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการแปรรูปพืชผลให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดสากล

     รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การเกษตรแบบแม่นยำ (Precision agriculture) โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลเพื่อการวางแผนและบริหารจัดการ ฟาร์มของเกษตรกร เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น IoT, AI และ Big Data มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยระบบเซนเซอร์และระบบวิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ระบบ Controlled-Environment Agriculture (CEA) และ Vertical Farm เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเกษตรของไทย โดยช่วยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำลงถึง 90% เมื่อเทียบกับการเกษตรทั่วไป และเกษตรกรยังสามารถปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงสามารถสร้างโอกาสใหม่ในตลาดด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งนับเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการเกษตรไทยในอนาคต “เทคโนโลยี IoT, AI และ Big Data ที่ถูกนำมาใช้ในแพลตฟอร์มการเกษตรแบบแม่นยำ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้สูงสุด

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS