เป็นอีกพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญใกล้กรุงเทพฯ อย่างเมืองอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่ยังคงวิถีแบบสงบเรียบง่าย ชาวบ้านยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำการประมง ไปจนถึงการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ที่พักเล็กๆ เป็นเมืองน่ารักที่ใครได้มาเยือนก็ชื่นชอบในเสน่ห์ แม้ที่ผ่านมาต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคครั้งใหญ่มาบ้าง แต่ก็สามารถผ่านพ้นมา
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank จึงได้พาเยี่ยมชม 2 ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ต่างก็มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีใครบ้างไปดู
Gajib Bed & Breakfast ที่พักเล็ก เงียบสงบ ส่วนตัว อาหารเช้าเด็ด
ถ้าใครชอบความเงียบสงบ ร่มรื่นของต้นไม้ เหมาะแก่การนอนเล่นพักผ่อนชิลๆ “Gajib Bed & Breakfast” เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ด้วยคอนเซปต์ “Bed & Breakfast” ที่นอนหลับสบาย อาหารเช้าอร่อย ด้วยการเสิร์ฟเมนูพื้นถิ่นทั้งอาหาร ขนม ผลไม้ นั่งรับประทานในบรรยากาศร้านคาเฟ่ด้านหน้าโรงแรม
เพชร ศรฤทธิ์ชิงชัย หรือ เพชร เจ้าของเล่าที่มาให้ฟังว่า เดิมทีก่อนเป็นเจ้าของนั้น เคยเป็นลูกค้ามาก่อน โดยได้มีโอกาสเข้ามาพักในช่วงปี 2562 จนเกิดความชอบและสนใจอยากเช่ากิจการ เนื่องจากเจ้าของเดิมกำลังจะโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยได้เข้ามาพัฒนาระบบภายในให้มีมาตรฐานมากขึ้น ไปจนถึงเพิ่มส่วนของคาเฟ่ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ เพราะโรงแรมมีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว กระทั่งเช่าไปได้ไม่ถึงปี เมื่อเริ่มทำก็ยิ่งมีความรักและผูกพัน จนมีความคิดอยากซื้อกิจการเป็นของตัวเองเพื่อปรับปรุงพัฒนา อย่างน้อยๆ ก็เป็นพื้นที่พักผ่อนให้กับครอบครัว จากผู้เช่าจึงกลายเป็นเจ้าของกิจการในที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank ที่เข้ามาสนับสนุนเกี่ยวกับสินเชื่อเงินทุนเพื่อนำมาพัฒนาห้องพักและคาเฟ่
โดยมองว่าจุดเด่นของที่นี่ คือ ความเงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อน แต่สิ่งที่อยากนำมาเพิ่มเติมให้แตกต่างจากที่พักอื่น คือ ความเป็นส่วนตัว โดยมองว่าที่พักส่วนใหญ่ของอัมพวาจะเด่นด้านโฮมสเตย์ แต่ยังมีลูกค้าอีกมากที่ต้องการสัมผัสกับบรรยากาศของที่นี่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการความเป็นส่วนตัว ห้องพักของที่นี่จึงออกแบบมาเป็นส่วนตัว โดยแต่ละห้องจะมีประตูและรั้วไม้ไผ่กันเป็นสัดส่วน ด้านในมีสวนเล็กๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยมองว่าน่าจะตอบโจทย์คนเมืองที่อยากขับรถมาไม่ไกลแต่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ได้
และเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ลูกค้าที่อยากมาพักผ่อน ไม่ต้องออกไปไหน ก็มีอาหารอร่อยๆ ให้รับประทาน จึงให้ความสำคัญกับอาหารเช้าเป็นอีกจุดเด่นของที่พัก โดยจะคัดเลือกเมนูพื้นถิ่นที่โดดเด่น ทั้งอาหารคาว หวาน ผลไม้มาให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองของดีเมืองอัมพวา
ปัจจุบันมีห้องพักทั้งหมด 9 ห้อง ราคาเริ่มต้นที่ 2,000-3,000 บาท กลุ่มลูกค้าหลัก คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่อยากใช้เวลาพักผ่อนวันหยุดแบบขับรถไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ส่วนลูกค้าต่างชาติมีเข้ามาบ้างประมาณ 20-30%
สำหรับในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกช่วงที่ธุรกิจต้องประคองตนผ่านมาให้ได้ โดยวิธีที่ทำให้ผ่านมาได้ คือ รายได้จากคาเฟ่ มีการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ บางเมนู เช่น เค้กกล้วยน้ำว้า ก็ให้ลูกค้าเข้ามาทำการสั่งซื้อได้
โดยอนาคตตั้งเป้าการเติบโตไปในทิศทางการเพิ่มประสบการณ์การมาพักผ่อนให้ลูกค้าได้รับความอบอุ่นและประสบการณ์ที่ดีกลับไป โดยยังคงรักษามาตรฐานที่ดีเอาไว้ สำหรับเป้าหมายการเติบโตในแต่ละปีที่วางไว้ คือ ประมาณ 10% โดยมีการวางแผนต่อยอดและบุกตลาดให้มากยิ่งขึ้น
ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :Grajib Bed&Breakfast
รื่นทวีทรัพย์ น้ำตาลมะพร้าวคุณภาพ 50 ปี ของดีอัมพวา
พูดถึงอัมพวา นอกจากปลาทูแม่กลอง อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลมะพร้าว ที่ปัจจุบันแทบจะมีคนทำลดน้อยลงไปทุกที
น้ำตาลมะพร้าวแปรรูป แบรนด์ "รื่นทวีทรัพย์" เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยังคงทำอยู่ โดยประกอบกิจการผลิตน้ำตาลมะพร้าวมายาวนานกว่า 50 ปี
วิทยานิพนธ์ ไหลหลั่ง เจ้าของเล่าว่า กิจการดังกล่าวเริ่มต้นมาจากคุณพ่อของภรรยาทำธุรกิจน้ำตาลมะพร้าวแปรรูปขายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีการทำมาตลอดกว่า 50 ปี แต่เริ่มจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยเขาได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการและรับช่วงต่อในปี 2560 ได้มีการนำระบบมาตรฐานต่างๆ เข้ามาพัฒนาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น อย., GMP, HACCP และฮาลาล รวมถึงเริ่มมีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิต เช่น ทดแทนการใช้เตาฟืนแบบเดิมซึ่งสามารถใช้พลังงานได้แค่ 60% แต่ถ้าหากเป็นเครื่องจักรไวเลอร์จะใช้พลังงานได้ถึง 90-95% ทำให้ช่วยลดมลพิษทางอากาศและช่วยให้ใช้พลังงานได้เต็มที่มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันนอกจากจำหน่ายอยู่ในประเทศ ก็เริ่มมีการรับผลิตสินค้า OEM ให้แบรนด์ต่างๆ เพื่อส่งออกเพิ่มเติมขึ้นมา ทำให้ธุรกิจขยาย เติบโตได้ยิ่งขึ้น
โดยในช่วงที่มีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร ได้รู้จักกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank ที่เข้ามาเสนอสินเชื่อเครื่องจักรให้กับทางแบรนด์พอดี จึงได้นำมาพัฒนาการแปรรูปน้ำตาลมะพร้าวให้ได้คุณภาพและมาตรฐานมาก
วิทยานิพนธ์เล่าว่า น้ำตาลมะพร้าวนั้นความจริงแล้วมีหลายประเภทให้เลือกใช้ มีทั้งน้ำตาลมะพร้าวที่นำไปทำขนม น้ำตาลมะพร้าวที่นำไปทำอาหารคาว ซึ่งแต่ละประเภทจะมีส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไป ทางแบรนด์จึงมีการสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าว่าน้ำตาลมะพร้าวประเภทไหนเหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหารชนิดใดบ้าง จนกลายเป็นจุดเด่นให้กับธุรกิจ
ในส่วนของวัตถุดิบทางแบรนด์รับมาจากเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวเพื่อนำเอาน้ำหวานช่อดอกมะพร้าวในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เพราะต้องการกระจายรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวให้ยังคงมีอาชีพต่อไปได้ ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรเริ่มหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมมากขึ้นเพราะต้นมะพร้าวจะมีลักษณะเตี้ยกว่ามะพร้าวทั่วไป การเก็บน้ำหวานจึงง่ายกว่าแบบเดิม
ด้านกำลังการผลิตของแบรนด์ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบหลักอย่าง “น้ำหวานจากดอกมะพร้าว” ซึ่งภาษาชาวบ้านจะถูกเรียกว่า “น้ำตาลใส” จะมาจากงวงของมะพร้าวเมื่อถูกตัดจนหมดชาวสวนจะทำการพักไว้ 2-3 เดือนเพื่อรองวงใหม่งอกออกมารวมถึงสภาพอากาศที่หากร้อนมากจนเกินก็ส่งผลให้ปริมาณน้ำหวานดอกมะพร้าวไม่ได้ตามที่ต้องการ โดยปกติจะมีผลผลิตส่งตรงเข้ามาวันละประมาณ 2,000-3,000 ลิตรหรือมากสุด 6,000-7,000 ลิตร ทำให้กลายเป็นปัจจัยการผลิตที่มีข้อจำกัด บางช่วงอาจขาดแคลนไปบ้าง โดยปัจจุบันแทบจะทำการตลาดออฟไลน์เกือบ 100% เติบโตจากปีที่แล้ว 10% นอกจากจำหน่ายภายใต้แบรนด์ตัวเอง ยังมีการรับ OEM ให้แบรนด์ต่างๆ อีกกว่า 10 เจ้าด้วยกัน
สำหรับช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาธุรกิจได้รับผลกระทบบ้างในช่วงท้าย เนื่องจากในช่วงแรกลูกค้ามีการสั่งซื้อไปสต็อคไว้จำนวนมาก แต่พอสถานการณ์คลี่คลายยอดขายกลับชะลอตัวลง เพราะสินค้าที่ซื้อไปก่อนหน้านั้นยังคงมีเหลือไว้ใช้อย่างเพียงพอ จึงจำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อกระจายสินค้าออกไปให้สามารถขายได้มากขึ้น
ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook : น้ำตาลมะพร้าวรื่นทวีทรัพย์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี