นายภิญโญ ตั๊นวิเศษ ในฐานะอนุกรรมการติดตามแผนแก้ไขปัญหาหนี้เสียธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในเอสเอ็มอีแบงก์ว่า ขณะนี้ คณะทำงานสามารถแก้ไขหนี้เสียได้ตามเป้าหมายแล้วจำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท ส่งผลให้จำนวนหนี้เสียของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท จากเดิม 2.9 หมื่นล้านบาททั้งนี้ เป้าหมายการแก้ไขหนี้เสียในปีนี้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยไตรมาสละ 2-3 พันล้านบาท
นายภิญโญ ตั๊นวิเศษ ในฐานะอนุกรรมการติดตามแผนแก้ไขปัญหาหนี้เสียธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในเอสเอ็มอีแบงก์ว่า ขณะนี้ คณะทำงานสามารถแก้ไขหนี้เสียได้ตามเป้าหมายแล้วจำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท ส่งผลให้จำนวนหนี้เสียของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท จากเดิม 2.9 หมื่นล้านบาททั้งนี้ เป้าหมายการแก้ไขหนี้เสียในปีนี้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยไตรมาสละ 2-3 พันล้านบาท
"การแก้ไขปัญหาหนี้เสีย ถือว่า เดินไปตามแผน โดยเฉพาะในส่วนของหนี้เสียรายใหญ่ที่มีการปล่อยสินเชื่ออย่างผิดปกติ ข้อสังเกต คือ เมื่อเราเข้าไปเจรจาแล้ว ทางลูกหนี้ได้เข้ามาปิดบัญชีทันที ส่วนลูกหนี้รายอื่นๆก็ได้แก้ไขทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และ การกลับมาชำระหนี้ตามปกติ โดยขณะนี้ คณะทำงานได้แก้ไขหนี้เสียสำหรับลูกหนี้รายใหญ่ได้แล้วประมาณ 10%ของจำนวนลูกหนี้รายใหญ่ทั้งหมด 100 ราย มูลหนี้ประมาณ 9 พันล้านบาท"
ส่วนของการเพิ่มทุนนั้น นายภิญโญ กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นได้ดำเนินการใส่เงินเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารแล้วจำนวน 555 ล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวจะนำมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งขณะนี้ ก็ถือว่า เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้จำกัดวงเงินการปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารเป็นธนาคารเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริง โดยจะต้องมีสัดส่วนลูกค้ารายย่อยและรายกลางในสัดส่วนประมาณ 80% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ขณะเดียวกัน การจัดระบบเคพีไอที่เข้มงวดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของพนักงาน รวมถึง ผู้บริหารให้ดียิ่งขึ้น
อนึ่งแผนฟื้นฟูธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่อนุมัติโดยกระทรวงการคลัง ก่อนหน้านี้ มีแผนงานในระยะสั้น 6 เดือนแรก โดยเป้าหมายอยู่ที่จะเร่งแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ดูแลการปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพ และติดตามหนี้เสียให้ได้ ส่วนแผนระยะยาวในช่วง 3 ปี จะมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารองค์กรใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอีแบงก์จริงๆ แล้วมีเพียง 2.9 หมื่นล้านบาท แต่ที่มีการคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขที่ประมาณการไว้ หากไม่มีการเร่งจัดการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงระบบ หรือการติดตามหนี้ จะทำให้สิ้นปีหนี้เสียเพิ่มขึ้น