ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือนม.ค. ก.พ. ค่าแรง 300 บาททำต้นทุนพุ่ง 5.1% ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-บาทแข็ง กระทบธุรกิจเดือนม.ค. ส่งผลดัชนีสภาพคล่องมีแนวโน้มลดลง
ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือนม.ค. –ก.พ. ค่าแรง 300 บาททำต้นทุนพุ่ง 5.1% ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-บาทแข็ง กระทบธุรกิจเดือนม.ค. ส่งผลดัชนีสภาพคล่องมีแนวโน้มลดลง
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือนมกราคม –กุมภาพันธ์ โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 418 คน ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ถึง 4 กุมภาพันธ์ 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตลอดจนการปรับตัว พบว่า ในประเด็นผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ผู้บริหารส่วนใหญ่ราว 63.7% ระบุว่า ส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ 22.4% ระบุว่า ต้นทุนการทำธุรกิจยังไม่เปลี่ยนแปลง และ 13.9% ระบุว่าต้นทุนลดลง
โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ เฉลี่ยแล้วต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นประมาณ 10.3% ขณะที่ต้นทุนรวมในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 5.1% สำหรับแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ เพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว การเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานเป็นวิธีที่เลือกใช้มากที่สุด 63.9% รองลงมาคือ การลดต้นทุนผลิตในส่วนที่มิใช่ค่าแรง 61.4% ขึ้นราคาสินค้าอยู่ที่ 44.1% นำเครื่องจักรมาใช้แทนพนักงานบางส่วน 39.5% อีก 38.6% ลดงบด้านการลงทุนระยะยาว ศก.โลกกระทบธุรกิจไตรมาสแรกมากสุด
ผลการสำรวจยังพบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรกที่มีผลต่อการทำธุรกิจในไตรมาสที่ 1 คือ ภาวะเศรษฐกิจของโลก ภาวะเศรษฐกิจไทย ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งและพลังงาน และการแข็งขึ้นของค่าเงินบาทซึ่งสูงเท่ากับต้นทุนวัตถุดิบดัชนีเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง
สำหรับดัชนีด้านเศรษฐกิจในเดือนมกราคม มีค่าเท่ากับ 39 จุด สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2556 ดีกว่าเดือนธันวาคม2555 แต่เมื่อพิจารณาถึงการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมของปีนี้ พบว่า ดัชนีมีค่าลดลงเป็น 22 จุด และ 16 จุดตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้บริหาร โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง คือ การที่อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสสุดท้ายติดลบ การไหลเข้ามาของเงินทุนจนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่มีต่อต้นทุนในการทำธุรกิจจับตาดัชนีสภาพคล่อง การจ้างงานลด
สำหรับดัชนีด้านการทำธุรกิจซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านการจ้างงานและดัชนีด้านสภาพคล่องนั้น ดัชนีด้านรายได้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีค่าเป็นบวกเท่ากับ 13 จุด สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ในเดือนมกราคมได้มากเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2555 และการคาดการณ์รายได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ก็มีทิศทางที่สอดคล้องกัน
ส่วนดัชนีด้านต้นทุนอยู่ในระดับ 35 จุดในเดือนมกราคม สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีต่อต้นทุนธุรกิจอย่างชัดเจน แม้การคาดการณ์ดัชนีต้นทุนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมจะมีค่าลดลง แต่ก็ยังคงมีค่าเป็นบวก แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือนนี้
ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงของรายได้และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนได้ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องลดลง จากระดับ 26 จุดในเดือนมกราคม เป็น 21 จุด และ 8 จุดในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมตามลำดับ ซึ่งการลดลงของสภาพคล่องจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำธุรกิจ การตัดสินใจเลื่อนการจ้างงานเพิ่ม ทำให้ดัชนีการจ้างงานที่มีค่า 25 จุดในเดือนมกราคม มีค่าลดลงเป็น 15 จุดและ 11 จุดในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมตามลำดับ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การแข็งขึ้นของค่าเงินบาท และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 แม้ว่าค่าดัชนีทุกตัวมีค่าเป็นบวก แต่การที่แนวโน้มของดัชนีเหล่านี้มีค่าลดลง เป็นตัวสะท้อนการคาดการณ์ของผู้บริหารว่า ช่วงเวลาที่เหลือในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความความท้าทายที่ธุรกิจจะต้องหาหนทางรับมือให้ได้