คลังย้ำไม่มีแผนยุบ SME Bank ผู้ฝากอย่ากังวล

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เกี่ยวกับการควบรวมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กับธนาคารออมสินว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว. ได้เรียนว่าเป็นข้อเสนอของธนาคารโลก(เวิล์ดแบงก์) ส่วนจะควบรวมหรือไม่นั้นต้องศึกษาก่อน เพราะการควบรวม ต้องทำให้ธนาคารออมสินมีศักยภาพด้วย

 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เกี่ยวกับการควบรวมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กับธนาคารออมสินว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว. ได้เรียนว่าเป็นข้อเสนอของธนาคารโลก(เวิล์ดแบงก์) ส่วนจะควบรวมหรือไม่นั้นต้องศึกษาก่อน เพราะการควบรวม ต้องทำให้ธนาคารออมสินมีศักยภาพด้วย


ขณะที่นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของเวิลด์แบงก์โดยเหตุผลก็คือเอสเอ็มอีแบงก์เป็นธนาคารที่มีขนาดเล็ก ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีแผนกเอสเอ็มอี รวมอยู่ในธนาคารด้วย ซึ่งเรากำลังศึกษาข้อเสนอต่างๆให้ละเอียดก่อน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสศค.กล่าวยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนที่จะยุบเอสเอ็มอีแบงก์เพื่อนำไปควบรวมกับธนาคารออมสินแต่อย่างใด จึงขอให้ผู้ฝากเงินไม่ต้องกังวล ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่ระดับหนี้เสียทยอยเพิ่มขึ้นโดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้จะเดินทางไปรับฟังแผนฟื้นฟูจากคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการที่มีนายพิชัย ชุณหวชิระ เป็นประธาน พร้อมมอบทิศทางการดำเนินงานและรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข

ทั้งนี้ผลประกอบการล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 เอสเอ็มอีแบงก์มีสินทรัพย์อยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านบาทหนี้สิน 6.9 หมื่นล้านบาท สินเชื่อคงค้าง 9.6 หมื่นล้านบาทหนี้เสียอยู่ที่ 33%หรือ3.1 หมื่นล้านบาทส่วนระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 1%

นอกจากนี้จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและรับทราบแผนการดำเนินงานและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้เสียของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ด้วยเนื่องจาก เป็นอีกหนึ่งในธนาคารที่ยังมีปัญหาเรื่องของหนี้เสียเช่นกัน โดยระดับหนี้เสียอยู่ที่ 22.5% หรือ 2.4 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท ขณะที่ระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 4.6%

นายสมชัย กล่าวย้ำว่า ระดับหนี้เสียที่เกิดขึ้นของทั้งสองธนาคารนั้น เป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนหน้านี้ และยอมรับว่าการบริหารจัดการหนี้เสียนั้น เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะการใช้แนวทางการตัดขายหนี้เสียนั้น อาจมีปัญหาในแง่การขายต่ำกว่าราคาที่อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับด้วยว่า หนี้เสียที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเอสเอ็มอีแบงก์ต้องเข้าไปรับลูกหนี้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เนื่องจากธนาคารเอกชนไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้

NEWS & TRENDS