กกร.สรุป 8 มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าบาท แนะรัฐช่วยเอสเอ็มอีสร้างเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าบาท เตรียมเสนอ พาณิชย์ ดูแล ระบุพอใจรัฐบาลคลอดกฎหมายป้องกันการฟอกเงินและก่อการร้าย 2 ฉบับตามกำหนด หวังปลดไทยจากบัญชีดำฟอกเงินและก่อการร้ายได้
กกร.สรุป 8 มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าบาท แนะรัฐช่วยเอสเอ็มอีสร้างเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าบาท เตรียมเสนอ ”พาณิชย์” ดูแล ระบุพอใจรัฐบาลคลอดกฎหมายป้องกันการฟอกเงินและก่อการร้าย 2 ฉบับตามกำหนด หวังปลดไทยจากบัญชีดำฟอกเงินและก่อการร้ายได้
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมได้หารือมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทั้ง 8 มาตรการ โดยเฉพาะ 2 มาตรการสำคัญ คือ การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป และแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง โดยเปรียบเทียบค่าเงินกับ 10 ชาติอาเซียน และอีก 4 ชาติในภูมิภาค เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา และพิจารณาแนวทางการป้องกันเงินทุนไหลเข้าที่เหมาะสม โดยแยกบัญชีระหว่างเงินทุนที่จะเข้ามาเก็งกำไรและการลงทุนที่มีความเหมาะสม รวมทั้งต้องการเห็นภาครัฐแนะนำผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เรื่องการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ภายในสัปดาห์นี้
ส่วนการบรรเทาผลกระทบการปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน กกร.เห็นว่ามาตรการที่ภาครัฐออกมายังไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ซึ่งภาคเอกชนจะสรุปข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบและมีต้นทุนค่าแรงถึง 30-40% ของต้นทุนทั้งหมด เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยเฉพาะการชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) พิจารณา
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนการที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2556 ถือเป็นสิ่งที่ดี ที่รัฐบาลได้เร่งรัดออกกฎหมายตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ FATF (แฟตเอฟ) ทบทวนให้ประเทศไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวังการฟอกเงินและการสนับสนุนการก่อการร้าย ส่วนกฎหมายลูกทั้ง 7 ฉบับ เชื่อว่าจะทันการประชุมของ FATF ในวันที่ 18 ก.พ.2556 ซึ่งหลังจากนี้แฟตเอฟจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบว่าประเทศไทยจะสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ออกมาได้หรือไม่.