นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายก กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายก กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2556ว่าที่ประชุมมีมติได้ดำเนินการใน 2 มาตรการ คือ เปิดช่องทางในการรับเรื่องขอความช่วยเหลือจากเอสเอ็มอี โดยเปิดศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีขึ้นมา โดยส่งข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ ที่ www.sme1111.opm.go.th เมื่อศูนย์ฯ รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนและสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือครบถ้วนแล้ว จะนำเสนอนายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป
ด้าน นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา นั้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และหากนับรวมการปรับค่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 จะพบว่าค่าแรงขั้นต่ำได้ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 35.75 – 88.68 โดยอุตสาหกรรมขนาดเล็กมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 5.75 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.63 และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.83 โดยเฉลี่ยต้นทุนรวมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.38
นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73 รองลงมา คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.12 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.63
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนงานและมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วย โครงการอัดฉีดเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs โดยร่วมกับสถาบันการเงิน สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วยการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ในปีแรก เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งจะช่วยลดรายจ่าย เสริมสภาพคล่องทางการเงิน และรักษาสภาพการจ้างงาน ภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ จำนวนทั้งสิ้น 6,300 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 6,300 ล้านบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้ประชุมหาแนวทางให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการกับ ตัวแทนธนาคาร ทราบว่า ธนาคารพาณิชย์เตรียมหามาตรการไว้ดูแลลูกหนี้จากปัญหาค่าแรงไว้แล้ว อาทิ ผ่อนปรนการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย สนับสนุนเงินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพิ่มเติม