ดร.ประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลองค์การตลาด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายภาระกิจให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ สนองนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโอทอปและชุมชนทั่วประเทศอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนให้คนในชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอป ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ในลักษณะการรวมกลุ่มขึ้นเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในชุมชน (Community SMEs) เพื่อเป็นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ เพิ่มโอกาสให้ชุมชน
ดร.ประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลองค์การตลาด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายภาระกิจให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ สนองนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโอทอปและชุมชนทั่วประเทศอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนให้คนในชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอป ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ในลักษณะการรวมกลุ่มขึ้นเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในชุมชน (Community SMEs) เพื่อเป็นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ เพิ่มโอกาสให้ชุมชน
อีกทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนอีกด้วย และร้านค้าชุมชนนี้จะบริหารงานในลักษณะของแฟรนไชส์ ชื่อ “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” ซึ่งเป็นร้านค้าที่ออกแบบมาให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าที่มีระบบการบริหารจัดการและการตกแต่งร้านเป็นมาตรฐาน มีรูปแบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ เช่นเดียวกันกับร้านสะดวกซื้อชั้นนำ วางเป้าเปิดดำเนินการให้ครบ 500 สาขา ภายใน 3 ปี หวังสร้างให้เป็นเครือข่ายเพื่อเป็นช่องทางการเชื่อมโยงและกระจายสินค้า จำพวกสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์โอทอป สินค้าด้านเกษตรกรรม และสินค้าที่ชุมชนมีความต้องการ เช่นปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการเป็นกลไกรักษาสมดุลของราคาสินค้าและยกระดับมาตรฐานราคาสินค้าโอทอปอีกทางหนึ่งด้วย
การทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการภายใต้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ จะทำให้สามารถเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสินค้าทั้งจากในและนอกชุมชนให้มีการแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการลดทอนบทบาทของพ่อค้าคนกลางลง ทำให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงและนำกำไรที่ได้จากการขายสินค้าผ่าน “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” ไปปันผลให้กับสมาชิกที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาหรือเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน นอกจากนี้แล้วองค์การตลาด ยังทำหน้าที่เติมเต็มองค์ความรู้ด้านการตลาด เช่น การจัดทำแผนธุรกิจ การประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจและการบริหารจัดการร้านค้าที่มีประสิทธิภาพให้แก่คนในชุมชน และทำหน้าที่จัดหาผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนมีความต้องการเพื่อให้นำไปจำหน่ายได้ในราคาต้นทุนอันเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
“ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” นี้จะสามารถสร้างช่องทางตลาดใหม่ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการในชุมชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ที่จะผลิตสินค้าเพื่อป้อนเข้าสู่ “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” เพื่อจำหน่ายผ่านร้านค้าเครือข่ายที่มีสาขาอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างอาชีพที่เข้มแข็งให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.ประชา ประสพดี ได้กำหนดทิศทางและบทบาทขององค์การตลาด เพื่อมุ่งให้เป็น “องค์กรแห่งปัญญา ด้านการค้าในชุมชน” และดำเนินงานตามพันธกิจที่จะเป็นองค์กรหลักของประเทศในการสร้างตลาดกลางและเครือข่ายระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยการดำเนินการโครงการตลาดเครือข่าย “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” นี้ จะเป็นโครงการนำร่องที่จะพัฒนาไปสู่การนำพื้นที่ของศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอปที่ถูกทิ้งร้างอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กว่า 475 แห่ง อันอยู่ในการดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ มาปลุกให้ฟื้นและสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน และผู้ผลิตสินค้าโอทอป ต่อไป
สำหรับการดำเนินโครงการตลาดเครือข่าย “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ภายใต้โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบรูณาการ หรือ OTOP PLUS และมีกำหนดเปิด “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” ทั่วประเทศจำนวน 10 สาขา ภายในเดือนมีนาคม 2556 นี้ โดยสาขาต้นแบบได้เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ณ ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ ดร.ประชา ประสพดี คาดว่าเมื่อทั้ง 10 สาขา นี้เปิดดำเนินการครบ 1 ปี จะทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขายสินค้าและมีเงินหมุนเวียนในชุมชนกว่า 60 ล้านบาท มีส่วนช่วยกระจายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์โอทอป โดยตรงมูลค่ารวมกว่า 18 ล้านบาท มีประชาชนในชุมชนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเข้าร่วมโครงการในลักษณะของสมาชิกและผู้ถือหุ้นกว่า 5,000 ราย และตั้งเป้าว่าจะมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน และผลิตภัณฑ์โอทอป นำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาจำหน่ายและกระจายผ่านช่องทาง “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” ขององค์การตลาด มากกว่า 200 ราย และเมื่อมีการขยายสาขาของ “ร้านโอทอปชุมชนยิ้ม” มากขึ้นในอนาคต คนในชุมชนและผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าโอทอป ก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ