พาณิชย์ห่วงบาทแข็งซ้ำเติม SMEs ส่งออก

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายประสารไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าหารือกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ระหว่าง 29.70-29.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 


  เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายประสารไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าหารือกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ระหว่าง 29.70-29.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีความเป็นห่วงผลกระทบจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปบูรณาการแผนการต่างๆ

  “ความจริงไม่อยากให้ตื่นตระหนกเพราะเรามีทางออกหลายทาง และการลงทุนในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนก็ยังมีช่องว่างที่เราต้องทำเพิ่ม การหารือครั้งนี้เป็นการติดตามสถานการณ์ตามปกติ แต่เราอยากให้เตรียมทางเลือกไว้หลายๆทางให้กับภาคเอกชน
กลุ่มผู้ส่งออก ธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างน้อยจะได้คล่องตัวและช่วยลดความเสี่ยง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2556 นี้ยอมรับว่า กังวลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจจะกระทบต่อการส่งออกภาพรวมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งอยากให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ และไม่แข็งค่านานจนเกินไป เพราะวางแผนธุรกิจลำบาก อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยทั้งต้นทุนค่าแรง วัตถุดิบดอกเบี้ย โดยกระทรวงพาณิชย์ติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และในเดือนพฤษภาคม จะประชุมทูตพาณิชย์จากทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ และเป้าหมายการส่งออกใหม่ แต่ขณะนี้เรายังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 8-9% บนสมมุติฐานที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้แต่จากเสียงสะท้อนของภาคเอกชน โดยหอการค้าไทยระบุว่าหากเงินบาทแข็งค่าโดยต่ำลงมากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกแน่นอน จึงต้องรอดูอีกสักระยะ แต่หากวูบวาบเล็กน้อยก็ไม่น่าจะมีปัญหา

  นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งมีกลุ่มนักเก็งกำไรจากต่างประเทศเข้ามาซื้อขายและทำกำไรระยะสั้น หากเงินบาทผันผวนรวดเร็วกว่านี้อาจกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม ภาครัฐจะต้องใช้มาตรการป้องปรามอย่างจริงจังไม่เช่นนั้นผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งขณะนี้หลายกิจการประสบปัญหาหลายด้านประกอบกับความไม่มั่นใจเศรษฐกิโลกดังนั้นภาครัฐจะนิ่งนอนใจไม่ได้

NEWS & TRENDS