เอกชนชี้ ครม.อนุมัติแผนเยียวยาต้นทุนเพิ่มแค่ 1%

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2555 นี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จะพิจารณามาตรการชดเชยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานรับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่นตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น, การปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมจาก 5%เหลือ 2% และลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการเหมาช่วงการผลิต จาก3% เหลือ 1-1.5% เป็นต้น แนวทางทั้งหมดจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เอสเอ็มอี 6-7%

เวียดนามเปิดแผนหนุน SME ชี้ธุรกิจไทยน่าลงทุน

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเบื้องต้น (GDP) ของเวียดนาม มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 41.1% รองลงมาคือ จากภาคธุรกิจบริการ 38.3% และภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วน 20.6% ตามลำดับ และแม้ว่าเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (General Statistics Office : GSO) ก็รายงานว่า ในปี 2555 นี้ เวียดนามมีแนวโน้มที่จะเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 เกินดุลการค้าแล้ว 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับอานิสงส์จากมูลค่าส่งออกสินค้าไฮเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติรายใหญ่

พาณิชย์วาง 8 ภารกิจหนุนผู้ประกอบการไทย

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนในการผลักดันการส่งออกสำหรับปี 2556 โดยเน้นเป้าหมายใน 8 ภารกิจหลัก เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทย โดยมีแผนที่จะดำเนินการชัดเจน และต้องการให้ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของไทย (HTAs) ช่วยกันทำงานเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว

10 เดือนโรงงานเจ๊ง 904 รายเลิกจ้าง 2.8 หมื่นคน

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าช่วง 10 เดือนของปี 2555 (มกราคม-ตุลาคม )มีโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือปิดกิจการ 904 รายมูลค่า 27,574 ล้านบาทและมีการเลิกจ้างงาน 28,164 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 รวมถึงไม่สามารถแข่งขันได้จากต้นทุนที่ปรับตัวสูง และถูกผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศแย่งตลาดสินค้าเช่นกลุ่มซ่อมยานยนต์ และมอเตอร์ไซต์, ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์, ออกแบบแม่พิมพ์ผลิตชิ้นส่วน, ขุดลอกดินในโครงการก่อสร้าง, โรงสีข้าว, เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

"พี ดี เฮ้าส์" รับวิกฤตรุมขยายสาขาต่ำกว่าเป้า

นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ และเอคิวโฮม กล่าวว่า ปี 2555 นี้ ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติอีกครั้ง ภายหลังจากปีที่แล้วเจอกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ทำตลาดรวมรับสร้างบ้านลดวูบกว่า 20% มาปีนี้เจอกับกับวิกฤติแรงงานขาดแคลน

พาณิชย์ขนธุรกิจไทยโชว์ศักยภาพแดนพม่า

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ร่วมงานแสดงสินค้าไทยแลนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ระหว่างวันที่ 6 - 9 ธันวาคม 2555และที่เมืองมัณฑะเลห์ ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2555 เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าและแสดงศักยภาพสินค้าและบริการไทยให้เป็นที่รู้จักและนิยมอย่างกว้างขวางในตลาดพม่า คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายภายในงานทันทีและภายหลังการจัดงานตลอด 1 ปีกว่า 41 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกในอาเซียนขยายตัวในปี 2556 ไม่น้อยกว่า 10%

นายจ้างเซ็งรัฐเกาไม่ถูกที่คัน

นายปัณณพงศ์ อิทธิอรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง 300 บาท ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในส่วนที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น ยังไม่ตรงกับเป้าหมายความต้องการอย่างแท้จริง อาทิ มาตรการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพราะในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในสัญญาค้ำประกันสินเชื่อตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมพิจารณาร่วมภาครัฐและเอกชนชุดใหญ่ไม่ได้มีผู้แทนจากฝ่ายนายจ้างเข้าประชุมด้วย มีเพียงการเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการชุดเล็กเท่านั้น

พณ.ยันอีกเสียงธุรกิจเจ๊งเองไม่เกี่ยวค่าแรง 300 บาท

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าการเลิกกิจการในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค. ที่มีการเลิกกิจการทั้งสิ้น 3,338 ราย โดยมีสัดส่วนสูงถึง 58% นั้น มาจากปัญหาการขาดทุนสะสม โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านการก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการนันทนาการ บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และ 37% เป็นการปิดกิจการจากการจัดตั้งบริษัทเพื่อเข้ามารับสัมปทานภาครัฐ

ส.อ.ท.ชี้มาตรการรัฐช่วย SMEs เพียงบางส่วน

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นมาตรการเกี่ยวกับภาษี โดยมาตรการยกเว้นภาษีกำไรของผู้ประกอบการที่มีกำไร 150,000 บาท เพิ่มการยกเว้นเป็น 300,000 บาท และการต่ออายุหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร 100% ออกไปอีก 1 ปี เป็นมาตรการที่ได้ประโยชน์เฉพาะ SMEs ที่มีกำไร แต่ที่ผ่านมา ส.อ.ท.เคยศึกษาพบว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นวันละ 300 บาท ทำให้ต้นทุนรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10-15% ในขณะที่กำไรของธุรกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไรและจะทำให้มาตรการด้านภาษีไม่มีประโยชน์กับผู้ที่ขาดทุน