สรุปปี 55 โรงงานเจ๊งพันรายสูญรายได้ 3 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2555 มีโรงงานปิดกิจการประมาณ 1,000 ราย มูลค่า 29,000 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน 31,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 รวมถึงไม่สามารถแข่งขันได้จากต้นทุนที่ปรับตัวสูงทั้งจากวัตถุดิบ และค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ ถูกผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศแย่งตลาดสินค้า โดยกิจการที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, โรงงานซ่อมยานยนต์ มอเตอร์ไซค์, ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์, รองเท้า, เฟอร์นิเจอร์ และขุดลอกดินในโครงการก่อสร้าง เป็นต้น

5 แห่งไม่รอดเซรามิกลำปางดิ้นหนีตาย

น.ส.สุปราณี ศิริอาภานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และผู้บริหารโรงงาน SPP เซรามิกลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมทุกระดับใน จ.ลำปาง ประสบปัญหาธุรกิจอย่างหนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ประะกาศใช้ทั่วประเทศ ตลอดทั้งปรับขึ้นราคาก๊าซได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ กว่า 200 แห่ง ที่มีสายป่านน้อยต่างทยอยปิดกิจการ ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ก็ต้องมีการปรับแผนการดำเนินการขนานใหญ่เพื่อพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด

ส.อ.ท.หวั่นทุนต่างชาติซ้ำเติม SMEs ไทย

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาทบทวนนโยบายการโรดโชว์และการให้สิทธิพิเศษทางภาษีดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในไทยใหม่ เพราะหากธุรกิจต่างชาติเข้ามาปริมาณมากจะยิ่งทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยต้องปิดตัวรวดเร็วกว่าเดิม โดยเฉพาะกิจการที่เอสเอ็มอีไทยดำเนินการอยู่แล้ว เนื่องจากจะทำให้เกิดการแย่งตลาดและแย่งคนงานจากธุรกิจคนไทยอีก

รัฐย้ำนายจ้างโยนบาปขึ้นค่าแรงทำโรงงานเจ๊ง

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกระแสข่าวการเลิกจ้างแรงงาน และการปิดกิจการของสถานประกอบการหลายแห่ง ซึ่งถูกมองว่าเกิดจากผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ว่า จากข้อมูลของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตั้งแต่วันที่ 1-9 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงงานถูกเลิกจ้างทั้งหมด 421 ราย มีสถานประกอบการปิดกิจการ 5 แห่ง ซึ่งจากการวิเคราะห์การเลิกจ้างของสถานประกอบการทั้ง 5 แห่งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้มีผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแต่อย่างใด มองว่าเป็นการอ้างเหตุการณ์การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เพื่อขอความเห็นใจในการเลิกจ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วนายจ้างมีสาเหตุการ เลิกจ้างมาจากหลายปัจจัย เช่น ไม่มียอดสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ การขาดทุนสะสม หรือต้องการย้ายฐานการผลิต ดังนั้น จึงไม่อยากให้เกิดความวิตกกังวลว่าการปรับค่าจ้างในครั้งนี้จะทำให้มีแรงงานตกงานจำนวนมาก

พาณิชย์รับขึ้นค่าแรง-ก๊าซ ส่งผลขึ้นราคาสินค้า

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวหลังเป็นประธานปล่อยคาราวานรถธงฟ้าเคลื่อนที่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและอาจส่งผลให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าโดยรวมประมาณ 3-5%

ออเดอร์ SMEs เริ่มหดต่างชาติเบนเข็มสั่งเพื่อนบ้าน

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าของสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกอย่างแบรนด์เสื้อผ้า รองเท้า ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หลายรายเริ่มทยอยไปทำสัญญาในการสั่งผลิตสินค้าในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา เวียดนาม จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้า เนื่องจากต้นทุนการผลิตในไทยมีราคาที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก โดยเฉพาเรื่องของวัตถุดิบและผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ

SCB ปรับกลยุทธ์รับปี 56 เพิ่มเซ็กเมนท์ SME ใหม่

ไทยพาณิชย์ สานต่อความสำเร็จลูกค้า SME ประกาศปรับกลยุทธ์ เพิ่มเซ็กเมนท์ SME กลุ่มใหม่ “Lower MB” หวังตอบสนองความต้องการเชิงลึก เชื่อดันยอดสินเชื่อปีนี้โต 45,000 ล้านบาท

ส.อ.ท.ชี้รัฐคลอดแผนเยียวยา SMEs ไม่ถูกจุด

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ออกมา พิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สามารถผ่านวิกฤติได้ด้วยตนเอง โดยที่มาตรการภาษีจะส่งเสริมให้มีความสามารถในการทำกำไรได้เพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น หรือว่าสามารถกู้ยืมเงินเพื่อขยายงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนอุปกรณ์เป็นต้น ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายที่ทาง สอท.เสนอไป คือ ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีสถานการณ์ไม่ดี