ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าการเติบโตของธุรกิจในปี 2568 นั้น ยังคงมีความเสี่ยงกดดันจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้า สังคมสูงอายุกระทบการใช้จ่าย และสภาพอากาศแปรปรวน
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Smart Spending, Self-healing, Sustainability เป็น 3 เทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม
นอกจากนี้ 5 ธุรกิจรุ่ง ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ การแพทย์และความงาม ท่องเที่ยว/ฮีลใจ สินค้าและบริการเด็ก ธุรกิจกรีน/ปล่อยคาร์บอนต่ำ ขณะที่ 5 ธุรกิจร่วง ได้แก่ ผลิตสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ดีลเลอร์รถยนต์สันดาป อสังหาริมทรัพย์ Trader ซื้อมาขายไป และธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง
หลายปัจจัยยังคงกดดันการทำธุรกิจในปี 2568
1. เศรษฐกิจเสี่ยงโตชะลอ
เจ้าของกิจการยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้ว่าอาจได้แรงหนุนบางส่วนจากมาตการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่ด้วยค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงระมัดระวังหรือฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2568 การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโต 2.4% ชะลอลงจากปี 2567 ที่จะโตราว 4.6%
2. แข่งขันรุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้า
โดยเฉพาะสินค้าจีนราคาถูก เช่น เหล็ก แฟชั่น ของใช้ส่วนตัว เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง เป็นต้น ซึ่งไทยมีมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีน คิดเป็น 1 ใน 4 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศต่างๆ ทำให้อาจเห็นการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนมากขึ้น และส่งผลให้ธุรกิจที่ดำเนินกิจการในไทยแข่งขันลำบาก สะท้อนจาก อัตราการใช้กำลังการผลิต 10 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 58% ลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ที่โตเฉลี่ย 62.5% (ปี 2564-2566)
3. สังคมสูงอายุกดดันการใช้จ่าย
ไทยจะเข้าสู่ Super-aged Society ในปี 2571 หรือมีจำนวนผู้สูงอายุราว 14 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด แต่ผู้สูงอายุกว่า 34% มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี สะท้อนถึงการใช้จ่ายที่จำกัด ขณะเดียวกัน ค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะยิ่งกดดันค่าใช้จ่ายในภาพรวม จากการที่ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะอยู่ที่ราว 37% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ 3%
4. สภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น
ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตร รายได้ครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง/ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนนำมาซึ่งการออกมาตรการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM, พ.ร.บ. Climate Change ซึ่งส่งผลกระทบต่อเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สหภาพยุโรป ทำให้มีต้นทุนในการปรับตัวของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และต้องใช้เวลากว่าที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาจากการเปลี่ยนผ่านเพื่อตอบรับกับประเด็นนี้
ส่อง 3S เทรนด์ผู้บริโภคเพิ่มยอดขาย
1. Smart Spending -ใช้จ่ายอย่างรู้ค่า/คุ้มค่าคุ้มราคา
แม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงวางแผนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เลือกใช้จ่ายเฉพาะสินค้าที่จำเป็น หรือซื้อสินค้าที่คุ้มค่าคุ้มราคา สะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคกว่า 32% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ปรับพฤติกรรมโดยการลดปริมาณการซื้อสินค้า/ใช้บริการลง เช่น ลดทานข้าวนอกบ้าน/ ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น
2. Self-healing -ฮีลใจ/ทันกระแส/มี Story
สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกดดันให้คนไทยเกิดภาวะเครียดสะสม นำมาซึ่งความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 แต่คนที่เสี่ยงมีปัญหาอาจสูงถึง 10 ล้านคน โดยเฉพาะในวัยเด็กและเยาวชน รวมถึงวัยทำงาน ดังนั้น ธุรกิจสินค้า/บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือการฮีลใจ น่าจะได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้น หากเจ้าของกิจการสามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสที่มาไวไปไว
3. Sustainability -กระแสรักษ์โลก
ตอบโจทย์ตลาดไทยและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น ทำให้ทั่วโลกรวมถึงไทยตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สะท้อนได้จากการสำรวจพบว่า คนไทยกว่า 90% ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ค่าไฟเพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนจัด ราคาสินค้าสูงขึ้นจากผลผลิตผันผวน มีปัญหาสุขภาพจาก PM2.5 ดังนั้น ธุรกิจที่ปรับตัวรับกับเทรนด์ดังกล่าว ก็น่าจะสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดไทยและต่างประเทศ
เปิดโผ 5 ธุรกิจรุ่ง-ร่วง ปี 2568
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2568 จะต้องสอดรับไปกับเทรนด์ผู้บริโภคโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการทำให้สินค้าหรือบริการมีความคุ้มค่าคุ้มราคา และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้ทันกระแส รวมถึงตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืน ได้แก่
ธุรกิจรุ่งปี 2568
1. อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มูลค่าตลาดขยายตัว 5-7% จากการใส่ใจดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ
2. ท่องเที่ยว/ฮีลใจ เช่น สัตว์เลี้ยง คอนเสิร์ต มูเตลู หมีเนย หมูเด้ง มีแนวโน้มโตตามกระแส Self-healing เช่น มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโต 10-15% ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น
3. การแพทย์และความงาม แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยังโต 4-6% ตามเทรนด์ใส่ใจสุขภาพและการรักสวยรักงาม
4. สินค้าและบริการเกี่ยวกับเด็ก มูลค่าตลาดขยายตัวราว 4% จากการที่พ่อแม่ยังคงใส่ใจ และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยให้กับเด็ก
5. ธุรกิจกรีน/ปล่อยคาร์บอนต่ำ ผลสำรวจพบว่า 58% ของผู้บริโภค เต็มใจที่จะจ่ายสินค้า/บริการที่เป็นมิตร์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 37% เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับราคาสินค้าปกติ
ขณะที่ ธุรกิจที่มีความเสี่ยงในปี 2568 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับสินค้ากึ่งคงทนและคงทนที่ถูกกดดันจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังต้องแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน รวมถึงธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูงก็มีความเสี่ยงที่ยอดขายลดลงจากเทรนด์ความยั่งยืนที่เติบโต ได้แก่
ธุรกิจร่วงปี 2568
1. ผลิตสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ผู้บริโภคยังระวังการใช้จ่าย อีกทั้งยังต้องแข่งกับสินค้านำเข้าทั้งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทัน เสียงยอดขายหดตัว
2. อสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มหดตัวจากความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ยังไม่กลับมา ขณะที่จำนวนยูนิตสะสมทีรอการขายยังสูง
3. ดีลเลอร์รถยนต์สันดาป (ICE) การเปลี่ยนผ่านสู่ EV มากขึ้น กดดันยอดขายรถยนต์สันดาป (ICE) ให้มีแนวโน้มหดตัวลง นอกเหนือไปจากผลกระทบด้านกำลังซื้อ
4. ซื้อมาขายไป หรือ Trader ผู้ผลิตหันมาใช้ช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย (Omni-channel) ในการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง
5. ธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง โดนกดดันจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้า นอกเหนือจากการแข่งกับสินค้านำเข้า เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนในการปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี รายได้และความสามารถในการทำกำไรของแต่ละผู้ประกอบการในธุรกิจรุ่ง-ร่วง อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะ ซึ่งคงจะไม่ได้รุ่งหรือร่วงตามธุรกิจในภาพใหญ่ ขณะที่ ตลาดในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนและแตกย่อยมากขึ้น (Fragmented) ท่ามกลางปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ และพร้อมปรับตัวรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไวอยู่เสมอ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี