เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

Text: กองบรรณาธิการ


     ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ทั้งเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกเทรนด์สำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

     ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในร้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 6 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ในตลาดมีร้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวนประมาณ 7 แสนร้าน

     ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปี 2568 ดังนี้

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ

     ในปี 2568 คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 657,000 ล้านบาท เติบโต 4.6% แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวจากปี 2567

     การเติบโตของร้านอาหารแต่ละรูปแบบมีปัจจัยเฉพาะที่ต่างกัน อาทิ ทำเลที่ตั้งของร้าน ความหนาแน่นของร้านอาหารทั้งที่เป็นประเภทเดียวกันและต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงราคา คุณภาพ/รสชาติของอาหาร และการให้บริการ รวมไปถึงเทรนด์การบริโภคของผู้บริโภค การนำเสนอเมนูใหม่ๆ และมีเอกลักษณ์ก็มีผลต่อการเติบโตของร้านอาหาร

     - ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 2.9% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 213,000 ล้านบาท โดยร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่มองเรื่องความคุ้มค่าและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป สำหรับกลุ่มร้านอาหารประเภทอะลาคาร์ท (A La Carte) อย่างกลุ่ม Casual Dining อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ไทยและตะวันตก ในกลุ่มราคาระดับกลางจะเจอกับความท้าทายจากกำลังซื้อและการแข่งขันจากร้านที่เปิดให้บริการจำนวนมาก

     - ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 3.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 93,000 ล้านบาท การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการอย่างกลุ่มพิซซ่า และไก่ทอด และจากผู้ประกอบการที่ให้บริการในรูปแบบ Full Service ได้ปรับรูปแบบร้านอาหารมาเป็นแบบ Quick service มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นและเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

     - ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน คาดว่าจะเติบโต 6.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 266,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูง ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้ยังขยายตัวดี กอปรกับร้านอาหารแนว Street Food ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ

แนวโน้มธุรกิจร้านเครื่องดื่ม

     ในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 85,320 ล้านบาท เติบโต 3.2% จากปี 2567 (รูปที่ 8) การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ยังมีการเปิดร้านใหม่ รวมถึงการขยายแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มของชาวต่างชาติที่น่าจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องดื่มและเบเกอรี่ใหม่ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด มีส่วนกระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและเบเกอรี่มากขึ้น

ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

      1กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค

     2. ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในปี 2568 ต้นทุนรอบด้านของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่า รวมถึงต้นทุนสำคัญ ได้แก่

     - ต้นทุนค่าแรง โดยผู้ประกอบการยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2568 ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

     - ต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจร้านอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของต้นทุนธุรกิจ ด้วยสภาวะอากาศที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ราคาวัตถุดิบอาจปรับขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบนำเข้าอย่างนมผง เนย ชีส โกโก้ และแป้งสาลี โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าในปี 2568 ยังทรงตัวสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในกลุ่มร้านเบเกอรี่และอาหารตะวันตกค่อนข้างมาก

     3 พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจบริการ โดย “ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล” ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวให้เป็นธุรกิจเงินล้าน ถอดบทเรียนจาก Go Went Go และ อาสาพาไปหลง

พาคุณเจาะลึกเส้นทางธุรกิจของ Go Went Go และ อาสาพาไปหลง พร้อมถอดบทเรียนที่นำไปใช้ได้จริง และชี้ทางให้คุณเปลี่ยนคอนเทนต์ท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มคนทำธุรกิจบนเฟซบุ๊ก 

Creator Commerce ตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจ 78% ลูกค้าเชื่อรีวิวมากกว่าโฆษณาแบบเดิมๆ

รู้หรือไม่ว่า 78% ของลูกค้าดูรีวิวจากครีเอเตอร์ก่อนซื้อ นั่นแปลว่าครีเอเตอร์นั้นมีพลังมากกว่าโฆษณาแบบเก่า ดังนั้นการตลาดผ่านครีเอเตอร์ หรือ Creator Commerce จึงไม่ใช่แค่กระแส แต่กำลังกลายเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจทุกขนาดในไทย

ชวนรู้จัก LINE Certified Coach ผู้เชี่ยวชาญการตลาดดิจิทัล ตัวช่วย SME ใช้การตลาดดิจิทัลลุยธุรกิจได้อย่างมั่นใจ

รู้ไหม นอกจากเครื่องมือต่างๆ LINE ยังได้สร้างกลุ่มคนผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจแต่ละด้านมาเป็นโค้ชให้กับ SME เพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย ต่อยอดธุรกิจให้เติบโต นำเทคนิคการใช้เครื่องมือใน LINE มาช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจ ในนามของ “LINE Certified Coach”