TEXT : วันวิสา งามแสงชัยกิจ
PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
ไม่น้อยหน้าวงการไหนแน่ๆ ถ้าพูดถึงการแข่งขันของธุรกิจ Gift Shop ที่ปัจจุบันเดือดเสียยิ่งกว่าเดือด โดยเฉพาะการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีนราคาถูก ที่ไม่เพียงเข้ามาช่วงชิงตลาด แต่ยังทำให้ผู้เล่นของไทยต้องล้มหายตายจากไปไม่น้อย
แล้วคนตัวเล็กอย่าง SME จะไม่ถูกกลืนหายไปจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไร? ลองมาดูวิธีพลิกเกมสู้ของ สุรัตน์ ปทุมทอง เจ้าของแบรนด์ Tommy Gift กระดานแม่เหล็กลายแผนที่สุดชิค ที่โลดแล่นอยู่ในสนามนี้ร่วมกับคู่รักอย่าง จิตรีพร เสมอพงษ์ มานานกว่า 14 ปี โดยใช้หมัดเด็ดนั่นก็คือ .... การทำ Brand Support หรือ การแตกแบรนด์ใหม่ ทำสินค้าใหม่ เพื่อเจาะตลาดใหม่ มาเสริมแบรนด์เดิมที่มีอยู่ หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็น “การทำแบรนด์มารองรับกันและกัน” นั่นเอง
จึงเป็นที่มาของการคลอดแบรนด์ใหม่อย่าง Moggy Club สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีภาพวาดล้อเลียนน้องแมวสุดอาร์ทเป็นตัวชูโรง ถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนเริ่มอยากรู้วิธีการทำ Brand Support ขึ้นมาแล้ว งั้นไปดูกันเลย
Key Factor #1: แบรนด์หลักต้องนิ่ง
สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ แบรนด์หลักที่ทำอยู่มีความมั่นคงและโตได้อย่างแข็งแรงหรือยัง ก่อนที่จะแตกอีกแบรนด์มาให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้
“ไม่ได้มีกฎตายตัวว่า Brand Support จะต้องมี 2 หรือ 3 แบรนด์ จะมีแค่แบรนด์เดียวก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า เราสนใจเรื่องอะไร เรามองว่ามันควรจะออกมาเป็นแบบไหน หรือถ้า Brand Support ตัวแรกนั้นแข็งแรงแล้ว จะไปแตกอีกแบรนด์ก็ย่อมได้ ถ้ามีบุคลากรเพียงพอ”
Key Factor #2: มีเอกลักษณ์
ไม่ต่างจากแบรนด์หลัก Brand Support ก็ต้องมีเอกลักษณ์และจุดแข็งเป็นของตัวเอง เพื่อให้แข่งขันได้เช่นกัน
“ถ้าไม่มีเอกลักษณ์ จุดแข็ง หรือจุดเด่น จะทำให้แข่งขันได้ยาก ดังนั้น การจะทำ Brand Support ให้แข็งแรงต้องมีจุดแข็งที่คนมองแล้วรู้เลยว่าเป็นเรา อย่าง Moggy Club ที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ภาพวาดน้องแมวล้อเลียนศิลปินต่างชาติคนดัง เช่น ไมเคิล แจ็กสัน หรือมาริลิน มอนโร หรือจิตรกรชื่อดังอย่างวินเซนต์ แวนโก๊ะ รวมถึงภาพศิลปะต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เช่น ภาพโมนาลิซ่า หรือภาพหญิงสาวใส่ต่างหูมุก (Girl with a Pearl Earring)”
Did You Know? งานของแวนโก๊ะ รวมทั้งภาพวาดของศิลปินเก่าๆ ที่เสียชีวิตแล้วหลายท่านไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว
Key Factor #3: ตั้งกลุ่มเป้าหมาย
จะให้ Brand Support ไปเจาะตลาดไหน ต้องตั้งเป้าหมายไว้ให้ดี เพื่อให้สามารถเสริมตลาดของแบรนด์หลักและดึงดูดลูกค้าที่เป็นคนละกลุ่มกับแบรนด์หลักได้
“เราต้องมองให้ออกว่า แบรนด์หลักนั้นเราเจาะอยู่ที่ตลาดไหน และอยากให้ Brand Support เข้าไปเจาะตลาดไหน อย่างของเราลูกค้าของทั้ง 2 แบรนด์นั้นจะแตกต่างกันเลย โดยทาง Tommy Gift จะเจาะตลาดของตกแต่งบ้าน รวมถึงของขวัญของฝาก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน กลุ่มครอบครัว และคนมีบ้าน-คอนโด ส่วนทาง Moggy Club จะเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น หมอน เสื้อผ้า กระเป๋าผ้า พวงกุญแจ ซึ่งจะกินกลุ่มลูกค้าได้กว้างกว่า ตั้งแต่กลุ่มเด็กนักเรียน ทาสแมว พ่อแม่ วัยทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณที่ซื้อสินค้าไปฝากลูกหลาน ดังนั้น กลุ่มไหนที่ Tommy Gift จับไม่ได้ ทาง Moggy Club ก็จะเข้าไปจับแทน”
Key Factor #4: รู้ใจลูกค้า
จะออกแบบสินค้า Brand Support ให้ติดตลาด หรือดีไซน์ให้ถูกใจลูกค้านั้น ต้องรู้ว่าแท้จริงแล้วลูกค้าต้องการอะไร ไม่ใช่อาศัยแค่เราต้องการออกแบบหรืออยากวาดลวดลายสินค้าแบบไหน
“จะออกแบบงานให้ได้ดีต้องคุยกับลูกค้าเยอะๆ แล้วเราจะเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร มี Insight หรือ Feedback แบบไหนที่เราสามารถหยิบมาใช้ในงานของเราได้ ดังนั้น การออกแบบจึงต้องอิงกับลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งต้องประมวลให้ดีว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าเราชอบแบบไหน”
Key Factor #5: ศึกษาคู่แข่ง
แน่นอนว่ารู้เขารู้เรายังใช้ได้ผลเสมอ กับการทำ Brand Support ก็เหมือนกัน ที่ต้องทำการศึกษาตลาดและตามให้ทันว่า เพื่อนร่วมวงการนั้นเป็นอย่างไร
“Brand Support เราจะขายตลาดไหน ให้เข้าไปศึกษาให้ดี อย่าง Moggy Club ของเราที่เป็นสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เราก็ไปดูว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ในตลาดนี้ เขามีสินค้าอะไรบ้าง แล้วนำมาเป็นไกด์ไลน์และแรงบันดาลใจในการทำไลน์สินค้าของเรา”
EntreTrick:
- ศึกษาระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพวาดให้ดี โดยทั่วไปจะครอบคลุมตั้งแต่ศิลปินเริ่มสร้างสรรค์ผลงานจนกระทั่ง 50 ถึง 100 ปีหลังเจ้าของผลงานเสียชีวิต
- หากทำ Brand Support แล้วไปต่อไม่ได้หรือไม่ติดตลาด ควรตัดใจทิ้งให้เป็นและลุยเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี