7 วิธีปลูกผักรวยพันล้าน แบบ โอ้กะจู๋

     ใครว่าธุรกิจเกษตรรวยยากลองไปดูแนวทางของ ‘โอ้กะจู๋’ จากธุรกิจเล็กๆ วันนี้ได้เติบโต พาบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ เข้าสู่ตลาดมหาชนเรียบร้อย


     จากแปลงเล็กๆ ขยายอาณาจักรกว่า 380 ไร่

            ถ้าพูดถึงโอ้กะจู๋ก็ต้องนึกถึงเกษตรอินทรีย์ที่เริ่มต้นจากความรัก ที่วันนี้ความรักได้ออกดอกออกผล ปัจจุบัน สวนของ OKJ ที่ใช้ปลูกผักสลัด ผลไม้บางชนิด และดอกไม้ทานได้ ด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ทั้ง 5 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่รวมประมาณ 380 ไร่ เป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่การันตีด้วยมาตรฐาน IFOAM จากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ USDA Organic มาตรฐานรับรองอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา (Canada Organic Regime – COR) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU Organic Certification)


     จิรายุทธ ภูวพูนผล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเกษตรอัจฉริยะ OKJ กล่าวว่า OKJ เชี่ยวชาญในกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ในเชิงลึก ซึ่งเป็นกระบวนการจัดหาวัตถุดิบผักสลัดที่หลากหลายและเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญที่สุดของบริษัทฯ โดยผู้บริหารและบุคลากร มีความเข้าใจวิธีการเพาะปลูก ลักษณะ และคุณสมบัติของผักแต่ละชนิด สามารถปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแต่ละฤดูกาลในประเทศไทย โดยมีการทำเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการทุกกระบวนการ เพราะบริษัทฯ เชื่อว่าเกษตรอินทรีย์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำการเกษตรกรรม

     นอกจากนี้ บริษัทฯ ตั้งใจปลูกและเก็บเกี่ยวผักอินทรีย์ทุกต้นพร้อมเสิร์ฟให้ถึงมือทุกคน โดยปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง


ส่งผักสดใหม่ภายใน 28 ชั่วโมง

     นอกจากความเชี่ยวชาญเรื่องเกษตรอินทรีย์แล้ว วรเดช สุชัยบุญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน OKJ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีความสามารถในการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ของธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สามารถควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ บริหารจัดการครัวกลาง บริหารจัดการสาขา ทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในแต่ละกระบวนการ รวมไปถึงการควบคุมการดำเนินงาน วางแผนร่วมกับผู้ให้บริการภายนอกที่มีประสบการณ์ด้านการโลจิสติกส์ในการขนส่งและการบริหารจัดการศูนย์กระจายสินค้า พร้อมใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถติดตามสถานะการขนส่ง การควบคุมจัดเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ โดยจะขนส่งวัตถุดิบจากเชียงใหม่มาศูนย์กระจายสินค้าในกรุงเทพฯ รวมถึงกระจายสินค้าไปยังร้านอาหารแต่ละสาขาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผักถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของบริษัทฯ สามารถจัดส่งผลผลิตที่สดใหม่จากสวนถึงหน้าร้านสาขาภายใน 28 ชั่วโมง

 

ทีมงานต้องพร้อม

     จะเห็นได้ว่า OKJ มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ เบญญาภา เตชะมณีสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ OKJ กล่าวว่า นั่นเป็นเพราะจุดแข็งของ OKJ คือการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จากทีมวิจัย ร่วมกับฝ่ายการตลาดที่ศึกษาพฤติกรรม ความต้องการ และกระแสนิยมของผู้บริโภค ทำให้บริษัทฯ สามารถออกเมนูใหม่ ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย และแตกต่างจากอาหารเพื่อสุขภาพทั่วไป

     นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการฝึกอบรม เพิ่มศักยภาพบุคลกรอย่างสม่ำเสมอ โดยมีศูนย์การเรียนรู้ Ohkajhu academy เพื่อสร้างสมรรถนะที่ครบด้าน รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ในการให้บริการลูกค้าที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว เป็นคนที่เรารัก พร้อมที่จะดูแล และมอบสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม และยอดขายจากสาขาที่เปิดเพิ่มเติม

     “บริษัทฯ ยังมีการนำเมนูและผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและต่อยอดมาจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมของแบรนด์โอ้กะจู๋ และนำเสนอเป็นร้านรูปแบบใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ได้แก่ การเปิดร้าน Oh! Juice และร้าน Ohkajhu Wrap & Roll ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าและถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก ตอกย้ำให้ OKJ เป็นผู้นำการสร้างเทรนด์ผลิตภัณฑ์ และเมนูเพื่อสุขภาพที่แปลกใหม่ (Trend setter) ให้เกิดเป็นกระแสนิยมในประเทศไทย”


ปัจจุบัน‘โอ้กะจู๋แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

     (1) บริการและจำหน่ายอาหารภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” จัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ อาทิ สลัด สเต็ก สปาเก็ตตี้ อาหารจานเดียว ขนมหวาน น้ำผักผลไม้

     (2) ร้านอาหารประเภทจานด่วน (QSR) ภายใต้แบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” จำหน่ายสลัด แร๊พสลัด แซนวิช และเมนูสุขภาพพร้อมหยิบ
(Grab & Go) เพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบได้ และ

     (3) ร้านน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “Oh! Juice” ซึ่งต่อยอดจากเมนูน้ำผักออร์แกนิค และผลไม้ที่จำหน่ายในร้านโอ้กะจู๋


     ภวิษย์เพ็ญ เหล่ารัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงิน OKJ กล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,110.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 778.0 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 102.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 73.9 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม และการขยายสาขารูปแบบ Full-service Restaurant 6 สาขา นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2566 อีกทั้ง บริษัทฯ เริ่มรับรู้รายได้จากการขายจากการเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ใหม่ ได้แก่ ร้าน Ohkajhu Wrap & Roll ที่เริ่มเปิดสาขาแรกเดือนเมษายน 2567 และร้าน Oh! Juice ที่เริ่มเปิดสาขาแรกเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา

7 กลยุทธ์พาธุรกิจโตพันล้าน

     (1) พัฒนาธุรกิจบริการและจำหน่ายอาหารภายใต้แบรนด์โอ้กะจู๋ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยการขยายสาขา เพิ่มรูปแบบร้านอาหารใหม่ ๆ และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยตั้งเป้าหมายขยายครบ 67 สาขา ภายในปี 2571

     (2) สร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อให้เกิดความผูกพันกับแบรนด์ (Brand engagement) และความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) ผ่านกลยุทธ์ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิกเพิ่มเติม รวมถึงแผนการตลาดที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อทำให้เกิดการซื้อซ้ำบ่อยขึ้น

     (3) พัฒนาธุรกิจ และแบรนด์ใหม่ ๆ และขยายช่องทางการจำหน่าย โดยต่อยอดจากธุรกิจหลัก โดยในปีนี้ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการเริ่มธุรกิจใหม่ภายใต้แบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” และ “Oh! Juice” และมีแผนจะขยายสาขาร้านใหม่ทั้ง 2 แบรนด์อย่างต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายการขยายสาขาทั้ง 2 แบรนด์ รวมประมาณ 90 สาขา ภายในปี 2571 รวมถึงมีแผนพัฒนาแบรนด์อื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น

     (4) เติบโตอย่างรวดเร็วร่วมกับ OR ซึ่งเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง โดยร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำสินค้าไปจำหน่ายในร้าน

Café Amazon ทำให้มีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันของ OR จำนวนมาก ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำธุรกิจ รวมถึงเพิ่มโอกาสขยายสาขาร้านอาหาร

     (5) ต่อยอดและรักษาความเป็นผู้นำในการทำเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น พร้อมมุ่งมั่นในการขยายเครือข่ายเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ วิถีธรรมชาติ วิถีที่ยั่งยืน

     (6) พัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) โดยมีแผนในการเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มสายการผลิตสินค้าเพิ่มเติมที่ครัวกลางในกรุงเทพฯ และ

     (7) แสวงหาโอกาสในการลงทุนและขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ช่วยพัฒนา Ecosystem และสร้างนวัตกรรมในการทำธุรกิจของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

AI ช่วยอะไรได้บ้าง ใช้ยังไง? ฟังผู้บริหาร YDM แนะ

ในยุคที่เทคโนโลยี AI ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จะปรับตัวอย่างไรให้ทัน? ร่วมไขข้อข้องใจไปกับ ณัฐพล จิตงามพงศ์ จาก YDM กูรูผู้เชี่ยวชาญในการนำ AI มาใช้แบบ Full Funnel ที่จะมาแนะวิธีการใช้ AI ฉบับย่อสำหรับเจ้าของธุรกิจ SME โดยเฉพาะ

อยากเปลี่ยน แก้ว มาใช้ กระป๋อง สร้างมูลค่าเพิ่มเมนูเครื่องดื่ม ต้องรู้อะไรบ้าง?

ร้านกาแฟเดี๋ยวนี้ นอกจากจะแข่งขันกันด้วยรสชาติ บรรยากาศแล้ว การเปลี่ยนแก้ว มาเป็นกระป๋องบรรจุเครื่องดื่ม ก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะไม่เพียงจะช่วยดึงดูดใจลูกค้า ยังสร้างมูลค่าได้ด้วย อยากเปลี่ยนแก้วมาเป็นกระป๋อง ต้องรู้อะไรบ้าง ไปดูกัน

เคล็ดลับการตลาดแบบใหม่ เหมาะกับยุคผู้บริโภคฉลาดซื้อ จาก “แอ๊ม การตลาดการเตลิด”

เมื่อโลกเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคปรับ แล้วเอสเอ็มอีจะทำการตลาดเหมือนเดิมได้อย่างไร ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต กูรูจากการตลาดการเตลิด พร้อมแบ่งปันมายด์เซ็ตและกลยุทธ์ที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อชนะใจลูกค้าได้ทันที